AEC เรื่องนี้ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 AEC ถ้าคุณพลาดคอลัมน์ นี้ “คุณจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง” จริงหรือ????

 
“มิงกาลาบา” ทักทายกันแบบพม่าซะหน่อย หลายคนอาจงง และมีคำถามในใจ อย่าเพิ่งแปลกใจครับ วันนี้ผมมีสาระดี ๆ มาฝาก ก่อนอื่นเราลองย้อนมาทบทวนถามตัวเองกันซักนิดดีไหมครับว่านักบัญชีอย่างเรา เคยพูดคุยกันถึง AEC หรือเปล่า ผมเชื่อว่าหลายคนอาจมีคำตอบในใจว่า

 
“รู้ไปทำไม ถึงเวลาเขาจะสั่งให้ฉันทำอะไร ฉันก็ (ไม่) ทำ” คิดแบบนี้ตอบได้เลยว่าท่าทางอนาคตจะแย่ละครับ เพราะดูแล้วปฏิบัติงานกันแบบMake to order อนาคตคงสดใสยาก

 
“โอ๊ย!!! เรื่องนี้อีกละ น่าเบื่อชะมัด จะพูดอะไรกันเยอะแยะจ๊ะ” คิดแบบนี้ตอบได้เลยว่า จบข่าว ปิดประเด็น 

 
ปิดโอกาสไปเลย ม้วนเสื่อกลับบ้านดีกว่า

 
“AEC จะมีทำไม แค่นี้ยังยุ่งกันไม่พออีกหรอ” คิดแบบนี้ตอบแบบไม่ต้องคิดเลย คุณครับ โลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วนะครับพี่น้อง

 
เอาแล้วสิครับ งานนี้จั่วหัวกันถึงพริกถึงขิงแบบนี้ จะไม่หยุดอ่านซะหน่อยคงไม่ได้ละใช่ไหม? 

 
นักบัญชีมืออาชีพทุกท่านครับ ผมว่าเราก็ผ่านการทำรายการปรับปรุงบัญชีกันมาก็เยอะแล้ว และตอนนี้ก็คงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องจัดทำรายการปรับปรุง (Adjustment) กับตัวเองกันเสียบ้าง เราลองมาสละเวลา ละปากกา วางเครื่องคิดเลข เปิดตา เปิดใจ เปิดรับสิ่งใหม่ พร้อมกับตั้งใจเรียนรู้กันซะหน่อย เพราะเรื่องที่ดูจะวุ่นวาย ซับซ้อนก็อาจจะกลับกลายเป็นช่องทางของเราต่อไปในอนาคตได้ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาทุกที ครั้นจะไม่รับรู้ก็คงไม่ได้ เอาละไม่ต้องเสียเวลาพูดพร่ำทำเพลงกันนาน เล่าสู่กันฟังเลยละกันครับ


เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า ย้อนไปปี 2504 พันธมิตรเอเซีย 3 ประเทศ  ประกอบไปด้วย (พี่)ไทย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ร่วมกันจัดตั้งสมาคมแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ASA (Association of South east Asia)โดยมีวัตถุประสงค์จะร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ทำไปทำมาดันเกิดเรื่องเข้าสิครับ เพราะเหตุผันผวนทางการเมืองระหว่างสาธารณรัฐอินโดนีเซียกับมาเลเซีย จนต้องหยุดชะงักไป 2 ปี (วิเคราะห์ว่าการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนั้น

 
คงไม่ธรรมดาจริง ๆ) แต่ความตั้งใจที่จะรวมตัวกันก็ไม่ได้ถูกละความพยายามลง เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลีคลาย 

 
(ดั่งคำที่ว่า ฟ้าหลังฝนย่อมดีกว่าเสมอ) วันที่ 8 สิงหาคม 2510 บรรดาประเทศทั้งหลายก็ร่วมแรงร่วมใจหันมาจับมือกันใหม่อีกครั้ง ก่อตั้งเป็น สมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asia Nations) หรือเรียกชื่อเล่นของสมาคมนี้ว่า “ASEAN”งานนี้ไม่ได้มีแค่ 3 ประเทศอย่างที่ผ่านมาแล้วครับ  ASEAN ได้รับน้องใหม่เพิ่มอีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (เอา 3 ไว้ในใจ บวกไปอีก 2) รวมเป็น 5 ประเทศ แล้วครับ

 
การรวมกันคราวนี้ ทิศทางน่าจะรุ่งโรจน์ และไปได้สวยครับ จนวันที่ 7 มกราคม 2527 ก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่คือ บรูไนดารุสสลาม เข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 ของบ้าน ASEAN (เป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยนะครับ) ละจากนั้นไม่นาน

 
(28 กรกฎาคม 2538) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็เข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 7, 8 และ 9 ตามลำดับ และท้ายสุด สุดท้าย ลำดับที่ 10 ราชอาณาจักรกัมพูชา ก็เดินทางเข้าสู่สมาคม ASEAN อย่างสมบูรณ์แบบ (จากจุดกำเนิดเล็ก ๆ จนเติบโตมีสมาชิกขนาดนี้ อนาคตคงแจ่มแน่นอน) ซึ่ง ณ เวลานี้สิริรวมแล้วสมาชิก 10 ประเทศ ครอบคลุมประชากรราว 600 ล้านคน ใหญ่โตไม่เบาเลยนะ ASEAN 

 
ฟังเรื่องราวความเป็นมาของ ASEAN กันแล้ว บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า และเกี่ยวข้องอะไรกับ AEC เอาอย่างนี้ผมสรุปที่ไปที่มา และความสำคัญแบบรวบรัดแต่ได้ใจความเลยดีกว่า ASEAN คือกลุ่มประเทศ 10 ประเทศที่รวมตัวกัน 

 
จุดมุ่งหวังของการรวมกัน คือเพื่อที่จะดำเนินการให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยรูปแบบที่ตกลงกันก็คือที่มาของ AEC หรือชื่อเต็มว่า Asean Economics Community (จะว่าไป AEC ก็คล้ายคลึงกับ Euro Zone นั่นแหละครับ) ซึ่งก่อนที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันได้นั้น ก็ต้องมีการทำความตกลง ความเข้าใจกันก่อนว่าเราจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งก็จะจัดทำเป็น AEC Blueprint และบรรดาประเทศสมาชิกก็จะยึดถือข้อตกลงใน Blueprint เป็นเป้าหมายร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศเล็ก ๆ แต่ก็อยากจะมีอำนาจในการต่อรองกับประเทศคู่ค้าให้มากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ในการลดภาษีนำเข้า และส่งออก สำหรับสินค้าบางกลุ่ม บางประเภท อีกทั้งสามารถทำการค้าได้อย่างเสรี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น หรือจะกล่าวได้ว่า “เรา ASEAN รวมกันซะเพื่อให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ดีกว่า...เพราะอย่างน้อย เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหนเสีย”

 
มาถึงจุดนี้ อาจมีคำถามกลับมาว่ามี AEC แล้วจะกระทบอะไรกับเราบ้างหรือเปล่า? มันอาจดูไม่กระทบกระเทือน อะไรมากนัก สำหรับปี 2555  แต่อย่าลืมว่านักบัญชีอย่างเราเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจ เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำเนินต่อไป ดังนั้น ฉไนเลยจะหนีพ้นที่จะไม่เรียนรู้ หรือทำความเข้าใจ สิ่งแรก ๆ ที่ควรจะต้องเตรียมพร้อมก็คือ ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเราเลยก็ว่าได้ ความรู้เกี่ยวกับภาษีอากร และประมวลรัษฎากร ที่ดูอาจจะยุ่งยากซับซ้อน แต่มันก็ไม่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ ภาษากลางของ AECที่แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาสากล แต่สำหรับการติดต่อระดับนานาชาติแล้วคงจะหนีไม่พ้นเป็นแน่แท้

 
คุยกันมาถึงตอนนี้ นี่เป็นบทความแรก เรียกน้ำย่อยกันเบา ๆ บาง ๆ ที่อยากนำเสนอให้เห็นภาพการเติบโตของ ASEAN เท่านั้น ผมเองยังมีสาระดี ๆ สำหรับนักบัญชีมืออาชีพอีกมากมาย คราวหน้าจะนำอะไรมาฝากอีกต้องติดตามกันตอนหน้าแล้วละครับ ไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของแต่ละประเทศหลังเปิด AEC, สัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยในอาเซียน, หรือแม้แต่แนวโน้มทิศทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชี การวางแผนการดำเนินธุรกิจ และ

 
การวางแผนภาษี อย่างไรฝากติตดตามตอนต่อ ๆ ไปด้วยนะครับ. . .ซาลามัต ดาตัง