ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ก็จะต้องว่ากล่าวไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างหรือเจ้าของโครงการที่สร้างความเดือดร้อนลำบากให้ หากทั้งสองฝ่ายมีท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เรื่องก็คงจบ แต่หากพูดคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ผู้เสียหายก็คงจะต้องแสวงหาความยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป โดยผู้เขียนเห็นว่า ชาวบ้านผู้เสียหายมีข้อควรพิจารณาเพื่อเยียวยาความเสียหายของตนดังนี้
ข้อพิจารณาแรก คือ ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนให้ระงับการก่อสร้างได้หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเดือดร้อน รำคาญ หรือกระทบกระเทือนต่อสุขภาพ สามารถร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งมุ่งเน้นถึงความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบว่า “ผู้ดำเนินการ” ก่อสร้างคอนโดมิเนียมนั้นก่อสร้างผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ซึ่งตามกฎหมาย ผู้ดำเนินการ หมายถึง เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคาร ซึ่งกระทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วยตนเอง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งตกลงรับกระทำการดังกล่าวไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และผู้รับจ้างช่วง จากข้อกฎหมายดังกล่าว ทั้งเจ้าของโครงการและผู้รับเหมาถือว่ากระทำความผิดตามกฎหมายร่วมกัน หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบว่า ผู้ดำเนินการกระทำการก่อสร้างอาคารโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว สามารถมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ระงับการก่อสร้างได้
ข้อพิจารณาต่อมา คือ ผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายได้จากใคร ทั้งนี้ การเรียกค่าเสียหายนั้น จะต้องพิจารณาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีละเมิด ซึ่งแน่นอนว่า ผู้กระทำความผิดโดยตรง คือผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหาย แต่เจ้าของโครงการในฐานะของผู้ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างนั้นจะต้องร่วมรับผิดหรือไม่ อย่างไร จะต้องพิจารณาจากมาตรา ๔๒๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่ได้สั่งทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”
เมื่อพิจารณาจากหลักกฎหมายข้างต้นแล้ว เจ้าของโครงการ (ผู้ว่าจ้าง) ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้รับเหมาก่อสร้าง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายนั้น เจ้าของโครงการมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วย หรือเจ้าของโครงการเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่ไม่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมมาทำการก่อสร้างอาคาร ส่งผลให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อน รำคาญแก่ชาวบ้านผู้เสียหายที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งหน้าที่การพิสูจน์ความผิดของเจ้าของโครงการนี้ตกอยู่กับโจทก์ (ผู้เสียหาย) ดังนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะดึงให้เจ้าของโครงการเข้ามาร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาที่กระทำละเมิดได้
กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่า หากชาวบ้านผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินการตามกฎหมาย คงจะต้องดำเนินการทั้งสองแนวทางควบคู่กัน คือ
1) ยื่นเรื่องร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ก็สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานเขตต่างๆ หากเป็นต่างจังหวัด สามารถร้องเรียนได้ที่เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อ.บ.ต.) แล้วแต่กรณี และ
2) ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งโดยผู้เขียนเห็นว่าควรฟ้องทั้งเจ้าของโครงการและผู้รับเหมา ซึ่งการเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของโครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เป็นภาระของทนายความท่านในการนำสืบให้ผู้พิพากษาเห็นว่าเจ้าของโครงการนั้นมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วย
โปรดอย่าลืมว่า การดำเนินคดีดังกล่าวนั้นจะต้องว่ากล่าวกันตามความผิดเป็นครั้งๆ ไป ดังนั้น หากมีการกระทำละเมิดอีก ก็จะต้องฟ้องร้องกันใหม่อีก ดังนั้น ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงประนีประนอมกันได้ ไม่ว่าจะในหรือนอกศาลแล้ว ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ควรกำหนดให้ฝ่ายผู้กระทำละเมิดรับรองด้วยว่า จะไม่กระทำละเมิดอีก หากฝ่าฝืนข้อตกลงนี้จะต้องรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายให้กับผู้เสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย