เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี แถลงว่า ครม. เห็นชอบการแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร กรณีการแนบเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการขอคืนภาษีของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีให้มีความผิดเหมือนกับการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการรับอัตราโทษเดียวกัน คือ มีโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท ขณะที่การละเลยไม่ยอมเสียภาษี โทษปรับ 5,000 บาท โทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน
มีรายงานว่า สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กระทรวงการคลัง เสนอว่า บทบัญญัติในประมวลรัษฎากร มีเนื้อหาที่ไม่สอดรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสร้างความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสภาพบังคับทางกฎหมาย นอกจากนี้ บทบัญญัติบางมาตรายังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการใช้บังคับ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร ดังนี้
1. มาตรา 69 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ที่มีผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต ทำการตรวจสอบและรับรอง แต่ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลรัษฎากรกำหนดมาตรการบังคับสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงทำให้มาตรา 69 ขาดสภาพบังคับในทางกฎหมาย
2. มาตรา 37 ทวิ บัญญัติให้ผู้ใดเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งมีบทลงโทษที่น้อยกว่าบทกำหนดโทษกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามบทบัญญัติในมาตรา 37 ทำให้สภาพบังคับทางกฎหมายของบทบัญญัติทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญา
3. มาตรา 90/4 (6) บัญญัติให้บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ซึ่งคำว่า “เจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นถ้อยคำที่อาจให้ความหมายได้อย่างกว้างขวางและไม่ครอบคลุมถึงความผิดสำหรับการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นเท็จ”
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ประกอบด้วย
1. แก้ไขเพิ่มเติมกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 โดยการฝ่าฝืนหน้าที่ในการแนบเอกสารพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับ
2. แก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ
3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำอันเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ทวิ มีอัตราโทษเดียวกับมาตรา 37 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท โดยยกเลิกมาตรา 37 ทวิ
4. แก้ไขเพิ่มเติมให้บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์