การแก้กฎหมายประเด็นร้อน ๆ เรื่องอากรแสตมป์ คงจะกระทบถึงผู้เสียภาษีกันอย่างถ้วนหน้า เพราะที่ผ่านมาผู้เสียภาษีมักจะไม่ให้ความสำคัญกับการเสียอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญากันมากนักเพราะคิดว่าเป็นภาษีอากรที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เอาไว้รอลุ้นให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมาตรวจสอบหรือว่าเป็นคดีความกันแล้วค่อยมาปิดอากรแสตมป์ในสัญญาต่าง ๆ ก็คงทัน กรมสรรพากรเองก็มองเห็นจุดอ่อนตรงนี้มาตลอดจนและเพ่งเล็งรอจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรดีเพื่อให้ได้เม็ดเงินภาษีเพิ่มขึ้น จนในที่สุดจึงได้มีกฎหมายแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวกับอากรแสตมป์ที่น่าจะกระทบต่อผู้เสียภาษีในวงกว้าง แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะไปพูดถึงกฎหมายที่แก้ไขใหม่ว่าเป็นอย่างไร ผู้เขียนขออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับอากรแสตมป์ให้ทราบเป็นลำดับดังนี้
ประมวลรัษฎากรกำหนดให้การกระทำตราสาร (ทำสัญญาหรือเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรและลงชื่อ) 28 ลักษณะในบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ต้องเสียอากรแสตมป์ตามอัตราที่กำหนด เช่น
- ตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ
- ตราสารกู้ยืมเงิน
- ตราสารจ้างทำของ
- ตราสารใบมอบอำนาจ
- ตราสารคู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร
- ฯลฯ
คำว่า “กระทำ”[1] หมายความว่า การลงลายมือชื่อ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในการเสียอากรแสตมป์สำหรับการทำตราสาร เรียก “การปิดแสตมป์บริบูรณ์” แบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้
1) แสตมป์ปิดทับ หรือการปิดอากรแสตมป์แล้วขีดฆ่าแสตมป์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยท่านจะต้องหาซื้ออากรแสตมป์จากกรมสรรพากรไม่ใช่จากที่ทำการไปรษณีย์แต่อย่างใด มีตัวอย่างดังนี้
2) แสตมป์ดุน เป็นการเสียอากรโดยใช้กระดาษที่มีแสตมป์ดุนเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่า หรือโดยการยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่า ซึ่งแสตมป์ดุนไม่มีใช้ในปัจจุบันแล้ว
3) กรณีชำระเป็นตัวเงิน คือการนำสัญญาหรือตราสารที่ลงนามไปยังสำนักงานสรรพากรหรือสถานที่ใดที่สรรพากรมอบหมาย[2] เพื่อชำระค่าอากรเป็นตัวเงินตามอัตรา และภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้
มิใช่ว่าผู้เสียภาษีซึ่งเป็นผู้กระทำตราสารหรือทำสัญญาที่กำหนดไว้ 28 ลักษณะจะเลือกเสียอากรแสตมป์โดยซื้ออากรมาปิดทับหรือนำสัญญาไปชำระอากรเป็นตัวเงินที่กรมสรรพากรก็ได้ เพราะบางกรณีมีกฎหมายกำหนดให้ตราสารบางประเภทผู้เสียภาษีต้องชำระอากรเป็นตัวเงินเท่านั้น จึงเท่ากับว่าการกระทำตราสารบางกรณีผู้เสียภาษีไม่มีสิทธิเลือกซื้ออากรแสตมป์มาปิดเองในภายหลังได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอนำมากล่าวถึงการเสียอากรเป็นตัวเงินเฉพาะกรณีการแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ดังนี้
เดิมที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ได้กำหนดตราสาร 12 กลุ่มดังต่อไปนี้ให้ต้องเสียอากรเป็นตัวเงินเท่านั้น
(1) เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพเฉพาะที่ รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นผู้เช่า และเช่าอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
(2) เช่าซื้อทรัพย์สิน เฉพาะที่นิติบุคคลหรือสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับเป็นผู้ให้เช่าซื้อทรัพย์สินนั้น
(3) จ้างทำของ เฉพาะที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
(4) กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
(5) กรมธรรม์ประกันภัย
(6) ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสารทำนองเดียวกันที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน
(7) เลตเตอร์ออฟเครดิต
(8) ใบรับของ เฉพาะกิจการรับขนส่งทางอากาศที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายไทย
(9) ค้ำประกัน เฉพาะที่สถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงบริษัทประกันภัยเป็นคู่สัญญา
(10) คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร เฉพาะที่ต้นฉบับแห่งตราสารนั้น ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร
(11) ใบรับสำหรับการขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ ยานพาหนะ ทั้งนี้ เฉพาะยานพาหนะซึ่งมีการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ เฉพาะที่นิติบุคคลเป็นผู้ขายและผู้ให้เช่าซื้อยานพาหนะนั้น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยานพาหนะที่ใช้แล้ว
(12) ใบรับสำหรับการขายเรือกำปั่น เรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
ล่าสุดนี้ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ในกรณีดังต่อไปนี้
1. กรณีทำตราสารเช่าที่ดินตาม (1)
การเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ดังต่อไปนี้ต้องเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน
(ก) มีค่าเช่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป
(ข) รัฐบาล องค์การของรัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า หรือ
(ค) ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ดังนั้น เดิมทีคู่สัญญาเช่าที่เป็นเอกชนกับเอกชนทำสัญญาเช่ากันโดยไม่ได้จดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพราะทำสัญญาเช่ากันไม่เกิน 3 ปี[3] สามารถชำระอากรแสตมป์ด้วยการปิดทับได้หรือเสียเป็นตัวเงินก็ได้ อย่างไรก็ตามนับแต่วันที่ 4 เมษายน 2558 เป็นต้นไป[4]หากสัญญาเช่าดังกล่าวมีค่าเช่ารวมกันตลอดอายุสัญญาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีเสียเป็นตัวเงินในอัตราค่าเช่า 1,000 ละ 1 บาท[5] เช่น หากค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 3 ปีเป็นเงิน 3 ล้าน ต้องเสียอากรแสตมป์ 3,000 บาท (3,000,000 ÷ 1,000)
2. กรณีทำตราสารจ้างทำของตาม (3)
การจ้างทำของดังต่อไปนี้ต้องเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน
(ก) มีสินจ้างตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปหรือ
(ข) รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
กรณีนี้ก็เช่นกัน จากเดิมที่คู่สัญญาที่เป็นเอกชนกับเอกชนทำสัญญาจ้างทำของก็สามารถเสียอากรแสตมป์โดยวิธีปิดหรือจะเลือกเสียเป็นตัวเงินก็ได้ อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2558 เป็นต้นไปหากสัญญาจ้างทำของมีค่าตอบแทนหรือสินจ้างตามสัญญาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินเท่านั้น โดยผู้รับจ้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียอากรแตมป์ 1,000 ละ 1 บาท เช่น หากสัญญาจ้างทำของมีมูลค่าของค่าตอบแทน 1,124,500 บาท ต้องเสียอากรแสตมป์ 1,125 บาท (1,124,500 ÷ 1,000 = 1,124.50 เศษของ 1 พันเสีย 1 บาท)
วิธีการเสียอากรเป็นตัวเงินต้องทำอย่างไร ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ซึ่งแก้ไขโดยประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) กำหนดไว้ดังนี้
1. ตราสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ
(ก) กรณีเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ที่มีค่าเช่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เช่า ให้ผู้ให้เช่าชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น
(ข) กรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้น ๆ ก่อนหรือในวันที่มีการรับจดทะเบียนดังกล่าว และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนำเงินค่าอากรแสตมป์ที่ได้รับชำระไว้นั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบของทางราชการ โดยถือว่าปิดแสตมป์บริบูรณ์ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ได้บันทึกข้อความไว้ในตราสารนั้นว่า “ได้ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน...บาทแล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเล่มที่... เลขที่... ลงวันที่... แล้วลงรายชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์และวันเดือนปีที่บันทึกข้อความดังกล่าว
2. ตราสารการจ้างทำของให้ผู้รับจ้างชำระอากรเป็นตัวเงิน แทนการปิดแสตมป์ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น
กรณีนี้จะเป็นผลให้คู่สัญญาตามสัญญาเช่าและสัญญาจ้างทำของระหว่างเอกชนกับเอกชนที่มีมูลค่าการเช่าหรือสินจ้างเกินกว่า 1 ล้าน และได้ทำคู่ฉบับสัญญาต้องนำคู่ฉบับมาเสียอากรเป็นตัวเงิน จำนวน 5 บาท[6] โดยฝ่ายผู้เช่าและผู้รับจ้างเป็นคนเสียจากคู่ฉบับสัญญาที่ทำ
สำหรับการจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีแบบหรือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย [7] ดังนั้นหากคู่สัญญาไม่ได้จัดทำสัญญาและลงนามกันเป็นลายลักษณ์อักษรก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำตราสาร เป็นผลให้ผู้รับจ้างไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ท่านที่เป็นคู่สัญญาก็คงจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่า การไม่ทำสัญญาแล้วเกิดมีปัญหาพิพาทต้องฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นภายหลังนั้น จะทำให้ท่านเสียหายมากกว่าค่าอากรแสตมป์เพียงน้อยนิดที่ต้องจ่ายให้แก่ภาครัฐหรือไม่ เพราะในการทำธุรกิจนั้นควรจะต้องมุ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสำเร็จลุล่วงได้ยิ่งกว่าปัจจัยทางด้านภาษีอากร เพราะโดยหลักคิดที่ถูกต้องแล้วภาษีอากรนับเป็นปัจจัยลำดับท้าย ๆ ที่ท่านควรนึกถึง แต่ภาษีก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ท่านจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องมิเช่นนั้นแล้ว ท่านอาจจะต้องเสียหายมากมายในภายหลังได้
สำหรับอากรแสตมป์นั้นนับเป็นภาษีทางอ้อม เพราะคู่สัญญาฝ่ายที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นผู้รับภาระเสียอากรแสตมป์อาจผลักภาระอากรแสตมป์ไปให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ หากฝ่ายท่านเป็นผู้มีอำนาจต่อรองที่มากกว่า เช่น ท่านเป็นผู้ประกอบกิจการที่เชี่ยวชาญในการผลิตเหล็กหล่อตามแบบ และมีผู้ว่าจ้างผลิตหลายรายมารอเข้าคิวจะสั่งจ้างจากท่าน ท่านก็อาจจะระบุในสัญญาให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายค่าอากรแสตมป์ก็ได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ระบุภาระหน้าที่ไว้ในสัญญาเฉย ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บเงินค่าอากรแสตมป์มาจากผู้ว่าจ้างให้ครบถ้วนแล้วมาดำเนินการชำระอากรเป็นตัวเงินให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป ต่อมาภายหลังเมื่อกิจการท่านถูกตรวจสอบ เจ้าหน้าที่สรรพากรก็จะต้องเรียกเก็บเอาจากกิจการของท่านก่อนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ท่านอาจบรรเทาความเสียหายได้โดยดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับคู่สัญญาของท่านเพื่อเรียกเก็บค่าอากรแสตมป์ตามสัญญา อย่างไรก็ดี มูลค่าของค่าอากรแสตมป์ที่ท่านผลักภาระไปให้ผู้ว่าจ้างดังกล่าว ท่านก็จะต้องนำกลับมาถือเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่ผู้รับจ้างทำของได้รับด้วย
มีข้อควรทราบอีกประการเกี่ยวกับการทำตราสารนอกประเทศ เช่น กิจการท่านเป็นผู้ว่าจ้างทำของกับบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศให้เข้ามารับจ้างทำของให้บริษัทท่าน แต่ท่านไม่ได้เรียกเก็บค่าอากรแสตมป์จากการทำตราสารนั้น ต่อมาท่านได้นำตราสารที่ทำขึ้นนอกประเทศดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ประมวลรัษฎากรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในไทยต้องเสียอากร โดยต้องปิดแสตมป์ให้ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น[8] ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าผู้ทรงตราสารในไทยยังได้รับสิทธิปิดอากรแสตมป์แม้ว่าตราสารจ้างทำของที่นำเข้ามาในประเทศไทยจะมีมูลค่าสินจ้างตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปก็ตาม เพราะประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ไม่ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของวิธีการเสียอากรเป็นตัวเงิน ให้ครอบคลุมไปถึงกรณีที่ผู้ว่าจ้างนำตราสารจ้างทำของจากต่างประเทศเข้ามาว่าต้องอยู่ในบังคับที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน โดยวิธีการเสียอากรเป็นตัวเงินของสัญญาจ้างทำของที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปกำหนดเพียงว่า “ให้ผู้รับจ้างชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสารหรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น”[9] ดังนั้นหากคู่สัญญาซึ่งเป็นฝ่ายผู้ว่าจ้างนำตราสารดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยแม้จะเข้าลักษณะเป็นผู้ทรงตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ภายใน 30 วันนับแต่วันนำตราสารเข้ามา ก็สามารถชำระอากรแสตมป์โดยใช้วิธีแสตมป์ปิดทับหรือวิธีชำระเป็นตัวเงินก็ได้ หรือจะนำตราสารนั้นไปชำระอากรเป็นตัวเงินต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรภายใน 30 วันนับแต่วันนำตราสารเข้ามาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ท่านสามารถกระทำได้ แต่ถ้าหากท่านเป็นฝ่ายผู้รับจ้างแล้วละก็ แม้จะทำตราสารจ้างทำของนอกประเทศที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทก็อยู่ในบังคับต้องชำระอากรเป็นตัวเงินตามประกาศอธิบดีที่แก้ไขใหม่นี้ตั้งแต่ขณะกระทำตราสารนั้นอยู่ดีจะมาอ้างว่าต้องเสียภายหลังจากที่นำเข้าตราสารในฐานะผู้ทรงก็คงจะฟังไม่ขึ้น
แต่สำหรับสัญญาจ้างทำขึ้นนอกประเทศไทย มีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ หากเป็นกรณีที่การปฏิบัติตามสัญญานั้นมิได้ทำในประเทศไทยเช่น บริษัทท่านจ้างให้บริษัท A ในต่างประเทศดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในต่างประเทศแล้วส่งรายงานกลับเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น สัญญาจ้างในลักษณะนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในวรรคท้ายของตราสารลักษณะ 4 ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อบริษัทท่านนำสำเนาตราสารที่ได้รับยกเว้นอากรนั้นเข้ามาในประเทศไทยก็ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ในฐานะผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศไทยแต่อย่างใด เนื่องจากตราสารหลักได้รับยกเว้นแล้วไม่ว่าจะนำต้นฉบับคู่ฉบับหรือสำเนาเข้ามาในประเทศไทยก็ย่อมได้รับยกเว้นเช่นกัน
ประการต่อมา ในเรื่องของอากรแสตมป์ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าพนักงานตรวจการชำระอากรแสตมป์ สามารถตรวจการเสียภาษีของกิจการท่านได้จากอะไรบ้าง
1. การบันทึกรายการทางบัญชีที่แสดงว่าบริษัทท่านได้จ่ายชำระค่าอากรในปีภาษีนั้น ๆ เปรียบเทียบกับการทำตราสาร
2. เจ้าหน้าที่สรรพากรมีทีมเจ้าพนักงานตรวจอากรแสตมป์ โดยสามารถตรวจลายน้ำในอากรแสตมป์ได้ว่าเป็นอากรแสตมป์ที่ผลิตในปีใด
หากท่านไม่ให้ความสำคัญกับการชำระค่าอากรแสตมป์และคิดว่าจะดำเนินการภายหลังโดยซื้ออากรแสตมป์มาปิดและขีดฆ่าเมื่อถูกเรียกตรวจก็คงทัน ผู้เขียนขอเรียนว่าหากเจ้าหน้าที่สรรพากรเอาจริงเมื่อนั้นอาจจะสายเกินไปและเป็นผลให้กิจการของท่านถูกปรับจากการชำระอากรไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
โทษของการชำระอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมีดังนี้
1. กรณีกิจการท่านตรวจพบเองและได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจพบ[10]โดยผู้มีหน้าที่เสียอากรหรือผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์สามารถยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเสียอากรได้ดังนี้
1.1 ยื่นตราสาร[11]นั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วันนับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ต้องเสียเพียงเท่าจำนวนอากรตามอัตราในบัญชีท้ายหมวด
1.2 ยื่นตราสารเกิน 15 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน ต้องเสียเงินเพิ่มอากร 2 เท่าจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
1.3 ยื่นตราสารเกินกว่า 90 วัน ต้องเสียเงินเพิ่มอากร 5 เท่าจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
ตัวอย่าง เช่น บริษัท ก. เป็นผู้รับจ้างทำสัญญารับจ้างทำของมูลค่า 100,000 บาท ต้องปิดอากร 100 บาท ดังนั้นต้องเสียอากรและเงินเพิ่มตามกรณีข้างต้นดังนี้
1.1 อากรแสตมป์จำนวน 100 บาท
1.2 อากรแสตมป์จำนวน 100 บาท เงินเพิ่ม 2 เท่า อีก 200 รวมเป็น 300 บาท
1.3 อากรแสตมป์จำนวน 100 บาท เงินเพิ่ม 5 เท่า อีก 500 รวมเป็น 600 บาท
2. ถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจพบ[12] หรือโดยการแจ้งความของบุคคลใด
2.1 ไม่ได้ออกใบรับเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บอากรจนครบและเงินเพิ่ม 6 เท่าของอากร หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
2.2 ตราสารไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ในกรณีดังนี้
2.2.1 ไม่ปิดแสตมป์เลย ต้องเสียเงินอากรจนครบและเงินเพิ่มอีก 6 เท่าหรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
2.2.2 ปิดแสตมป์น้อยกว่าที่ต้องเสีย ต้องเสียเงินอากรจนครบและเงินเพิ่มอีก 6 เท่าของเงินอากรที่ขาด หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
2.2.3 ในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอากร เป็นจำนวน 1 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสีย หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
เมื่อทราบกันแล้วว่าภาระภาษีจากอากรแสตมป์เป็นอย่างไรบ้าง กรมสรรพากรแก้ไขกฎหมายมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมีเครื่องมือในการจัดการกับการเสียอากรแสตมป์ของผู้เสียภาษีได้อย่างเต็มที่ ท่านก็อาจจะต้องกลับไปทบทวนและตรวจสอบถึงการทำตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในกิจการของท่าน เพื่อจะได้เตรียมไว้รับมือกับการถูกตรวจสอบที่จะมีขึ้นในอนาคตต่อไป ดังคำที่ว่าทองแท้ไม่กลัวไฟ ผู้เสียภาษีที่ดีต้องยินดีต้อนรับเจ้าหน้าที่สรรพากรทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะเจ้าหน้าที่สรรพากรเองก็ตั้งใจทำงานเพื่อเก็บเงินภาษีไปพัฒนาประเทศชาติต่อไป เรียกได้ว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนไปอย่างดีที่สุด
--------------------------------------------------
* ท่านสามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้จาก เอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนมีนาคม 2558
[1] ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 “กระทำ”
[2] ตัวอย่าง เช่น ในการทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินและทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรมสรรพากรจะมอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่เก็บอากรแสตมป์
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
[4]ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (ร.จ. ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 132 ตอนพิเศษ 28 ง วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558)
[5] ตราสารลักษณะ 1 ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร
[6] บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร
ตราสารลักษณะ 23 คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร (2) ถ้าเกิน 5 บาทเสียค่าอากรแสตมป์ 5 บาท
[7] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
[8] ประมวลรัษฎากร มาตรา 111
[9] ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป็ (ฉบับที่ 37) ข้อ 3 (3)
[10] ประมวลรัษฎากร มาตรา 113
[11] เฉพาะตราสารที่ทำขึ้นในประเทศไทย
[12] ประมวลรัษฎากร มาตรา 114