นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะดำเนินคดีอาญากับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม และหากพบว่า สำนักงานบัญชีให้ความร่วมมือกระทำผิด เช่น หาใบกำกับภาษีปลอมให้ ก็จะดำเนินคดีอาญาด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ หากใช้ใบกำกับภาษีปลอม 10 ใบ ก็รวมเป็น 70 ปี แต่กฎหมายให้จำคุกรวมแล้วไม่เกิน 20 ปี
อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา กรมสรรพากรมีระเบียบปฏิบัติ ว่า ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมไม่เกิน 75% ของใบกำกับภาษีทั้งหมด หากยอมมาชำระภาษีให้ครบ จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา แต่กลับพบว่า ปัญหาใบกำกับภาษีปลอมก็ไมได้ลดลงเลย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมใบเดียวก็จะโดนดำเนินคดีอาญาทันที ซึ่งมีเวลาอีก 2 เดือน ที่ให้ผู้ประกอบที่ทำผิดได้ปรับตัวเพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับความคืบหน้าการจัดเก็บภาษี E-Commerce เพื่อปรับตัวให้ทันกระแสโลก เนื่องจากร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าของสหรัฐปิดตัวจำนวนมาก เพราะชาวสหรัฐซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ การค้าขายออนไลน์ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น กรมสรรพากรจึงปรับตัวรองรับกระแสใหม่ เพราะมีผู้ประกอบการประมาณ 800,000 ราย ขณะนี้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร เปิดเวทีรับฟังความเห็น
จากหลายฝ่าย เพื่อเสนอกฎหมายการจัดเก็บภาษี E-Commerce เพื่อรับทราบข้อมูลรายรับ รายจ่ายแท้จริง เบื้องต้นกำหนดเพดาน 15% แต่คาดว่า สรุปหลักเกณฑ์ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเสนอกระทรวงคลังพิจารณา
ขอขอบคุณที่มา : moneychannel