แนะรัฐอัดงบซอฟต์แวร์ภาคการศึกษา

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

 

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ ซิป้ากล่าวว่า ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้สำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ของสถานศึกษาในระบบ ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และระบบปฏิบัติการที่ใช้ สำรวจการใช้งบประมาณและค่าใช้จ่ายด้านคอมพิวเตอร์ สำรวจสถานภาพการใช้ซอฟต์แวร์ของสถานศึกษาและความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์

 

ทั้งนี้ ได้แบ่งประเภทซอฟต์แวร์ที่ทำการสำรวจเป็น3กลุ่ม ได้แก่ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการ ซอฟต์แวร์ด้านบริการ และซอฟต์แวร์ด้านการเรียนการสอน อีกทั้งยังได้สำรวจสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการนำซอฟแวร์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำกรอบนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อไป โดยซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูงสำหรับสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบบัญชีและการเงิน ระบบวิชาการและหลักสูตร ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบจัดการเอกสาร ระบบบริหารงานบุคคล ระบบเงินเดือน ระบบตารางสอน และระบบงานปกครอง ระบบบริหารจัดการและบริการเซิร์ฟเวอร์ ระบบบริหารจัดการอีเลิร์นนิ่ง โปรแกรมพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และโปรแกรมสื่อการสอน

 

ส่วนในระดับอาชีวะศึกษาซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูง ได้แก่ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง และโปรแกรมการพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สำหรับสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่มีซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูงปรากฏ ดังนั้น ซอฟต์แวร์กลุ่มนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ไม่มีการใช้งานว่าเกิดจากสาเหตุใดในการสำรวจครั้งต่อไป

 

สำหรับสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการนำซอฟต์แวร์ไปประยุกต์ใช้ ได้สำรวจปัญหา5ด้าน คือ ปัญหาด้านงบประมาณ ปัญหาด้านการพัฒนาเนื้อหาและเพิ่มข้อมูล ปัญหาด้านบุคลากร ปัญหาด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ และปัญหาด้านสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่าทุกระดับการศึกษามีปัญหา3อันดับแรกเหมือนกัน คือ ปัญหาด้านงบประมาณหรือไม่มีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดซื้อซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการนำซอฟต์แวร์ไปประยุกต์ใช้มากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาด้านการพัฒนาเนื้อหาและเพิ่มข้อมูล และปัญหาด้านบุคลากรเป็นปัญหาสำคัญ ตามลำดับ

 

ที่มา : เดลินิวส์