วันนี้ (24 มีนาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกันแถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ 2 แอพพลิเคชั่น เพื่อเตือนภัยสินค้าอันตราย ยา เครื่องสำอาง และอาหาร ผ่านบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อให้ข้อมูลประชาชนรู้เท่าทันพิษภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง อาหาร ที่ไม่ได้มาตรฐาน และจำหน่ายในตลาดที่อยู่ในชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ
ศ.นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังสินค้าสุขภาพที่ผ่านมา พบว่ามีลักลอบใส่สารต้องห้าม ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เช่น ใส่สเตียรอยด์ในยาชุด ยาสมุนไพรแผนโบราณ ที่ขายในรถเร่ ร้านชำ ร้านยา จนทำให้ติด สเตียรอยด์ เกิดปัญหาโรคคุชชิ่ง ซินโดรม(Cushing syndrome) ใบหน้าบวมกลมเป็นรูปพระจันทร์ ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ มักลักลอบใส่สารไซบูทามีนผสม เนื่องจากตลาดนิยมซื้อเพื่อใช้ลดน้ำหนัก ส่วนเครื่องสำอางพบสารห้ามใช้ที่เป็นอันตราย ได้แก่ ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ และสารปรอทแก้สิวฝ้า ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ในส่วนของอาหารตรวจพบสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ใส่บอแรกซ์กันบูด เพราะทำจำหน่ายในปริมาณมาก เป็นต้น ทำให้ประชาชนเกิดการเจ็บป่วย เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวจากผลข้างเคียงอันตรายของสารต้องห้าม เฉพาะที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์ เสียค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าปีละ 1,900 ล้านบาท หญิงตั้งครรภ์ที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ บางรายใช้เครื่องสำอางที่ใช้กรดเลตินโนอิค ทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
แอพพลิเคชั่นที่ทำครั้งนี้ ใช้ได้ทั้งสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์(Android) และไอโอเอส(IOS) ประกอบด้วยแอพพิเคชั่น ทำดี ดรัก อเลิ๊ท (Tumdee drug alert) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นเสมือนหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพรู้สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งยา เครื่องสำอาง และอาหาร และอย.สมาร์ท แอพพลิเคชั่น(Oryor Smart Application)ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ข้อมูลความรู้พิษภัยของสารต้องห้าม ตลอดจนสามารถใช้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากพื้นที่โดยตรง เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นช่องทางคุ้มครองสุขภาพประชาชน เนื่องจากปัจจุบันผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพ.ศ. 2557 พบคนไทยใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนประมาณ 48 ล้านคน นับวันจะใช้อุปกรณ์ประเภทนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากพกพา ใช้ประโยชน์ได้มาก ต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะเชื่อมต่อระบบกับกระทรวงไอซีที เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ง่ายสะดวกเร็วขึ้น
ด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลที่นำมาใช้ในแอพพลิเคชั่น ทำดี ดรัก อเลิ้ท นั้น ได้มาจากการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่จำหน่ายในชุมชน หมู่บ้านทั่วประเทศ และเมื่อตรวจสอบยืนยันของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ 16 แห่งว่าพบจริง จะนำขึ้นเตือนภัยในแอพพลิเคชั่น โดยแสดงทั้งรูปภาพผลิตภัณฑ์ ฉลาก สารพิษที่พบ แหล่งที่มา ขณะนี้ทำไปแล้ว 200 กว่ารายการ บางรายการพบใช้เลขทะเบียนอย.ปลอม ข้อมูลบางรายการพบว่ามีคนป่วยแล้ว เช่น ขาบวม ไตวาย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มักตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เพราะหลงเชื่อง่าย และสุขภาพมักป่วยออดๆแอดๆ
ในการทำงานเฝ้าระวังความปลอดภัยแก่ประชาชนครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดทดสอบสารอันตรายที่มักพบในอาหาร เครื่องสำอาง และยา เพื่อใช้ง่ายขึ้น สามารถใช้ในพื้นที่ชุมชนได้ ขณะนี้มีแล้ว 19 ชุด ประกอบด้วยชุดทดสอบด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 13 ชุด เครื่องสำอาง 4 ชุด ยา 2 ชุด เช่น ชุดทดสอบสเตียรอยด์ ชุดทดสอบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง และชุดทดสอบด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหรือรพ.สต.และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ประมาณ 10,000 แห่ง อาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. และ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถใช้ได้ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการใช้ทดสอบในรพ.สต. 63 แห่ง ใน 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย เลย นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร บึงกาฬ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ ยโสธร และมุกดาหาร พบว่าได้ผลดี ในปี 2558 นี้ ขยายดำเนินการในรพสต. 3,000 แห่ง และปี 2559 จะดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างดี ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างพัฒนาชุดทดสอบสารต้องห้ามในสมุนไพรวัตถุดิบผลิตยาสมุนไพรอีก 2 ตัว คือ สารหนู และตะกั่ว โดยระบบแอนดรอยด์สามารถติดตั้งโดยค้นหาคำว่า Tumdee Drug Alert ส่วนระบบไอโอเอส สามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.tumdee.org/alert และทางเว็บไซต์ www.dmsc.moph.go.th
ด้านนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้จัดทำแอพพลิเคชั่น ให้ข้อมูลแบบน่ารักๆ เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย ในรูปแบบ “เมืองสุขภาพ” ประกอบด้วย 7 เมนู ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่
1.การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างปลอดภัย กว่า 100 เรื่อง
2.สถานีข่าว อย.การรายงานข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวเกาะติดกับข่าวสาร อัพเดททันใจ กับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
3.ตรวจเลขที่ใบรับแจ้งเครื่องสำอาง
4.ห้องสมุดอย.เคลื่อนที่
5.รับเรื่องร้องเรียน ประชาชนสามารถกรอกข้อมูลทางมือถือ พร้อมภาพและสามารถระบุตำแหน่งได้ทันที โดยอย.จะใช้ข้อมูลที่ได้ไปดำเนินคดีตามกฎหมายร่วมกับตำรวจ
6.แหล่งรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แอนนิเมชั่น 68 เรื่อง เกมส์ 17 เกม และสื่อต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพและ
7.ดัชนีมวลกายปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดไปใช้งานแล้ว มากกว่า 130,000 ครั้ง
ในเดือนเมษายน 2558 นี้ จะมีเวอร์ชั่น 2 โดยจะเพิ่มระบบการตรวจเลขทะเบียน อย. ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนว่าจริงหรือปลอม รวมทั้งสามารถค้นหาตำแหน่งร้านขายยาคุณภาพที่อยู่ใกล้ ระบุพิกัดบริเวณรอบๆผู้ใช้งาน สามารถโทรศัพท์ไปที่ร้านขายยาได้กรณีที่บางร้านแจ้งเบอร์โทรไว้ และสามารถให้คะแนนนิยมร้านขายยาได้ด้วย รวมทั้งสามารถค้นหาร้านขายยาโดยระบุจังหวัดก็ได้ อีกทั้งยังช่วยคำนวณสารอาหารและพลังงานที่ได้รับแต่ละมื้อหรือแต่ละวันได้ โดยสามารถดาวน์โหลด ในระบบไอโอเอส ให้เข้าไปที่ App Store ส่วนระบบแอนดรอยด์ให้เข้าไปที่ Google play แล้วเลือกช่องค้นหา (search) แล้วพิมพ์คำว่า oryor ระบบก็จะแสดง oryor smart application ขึ้นมาให้เลือก ท่านก็สามารถเลือกติดตั้งได้ทันที ฟรี.
ที่มา : รัฐบาลไทย และ อย.