'ไอซีที' มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมส่งเสริม SMEs และพิจารณา 4G

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล และนายยงยุทธ ยุทธวงศ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีปลัดกระทรวงไอซีที เป็นกรรมการและเลขานุการ นั้น มีผลการประชุมที่สำคัญหลายเรื่อง เริ่มจากที่ประชุมได้รับทราบการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ซึ่งรัฐบาลมีทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาใน 5 ด้าน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน (Soft Infrastructure) ด้านส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Digital Economy Promotion) และด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล (Digital Society)

 

พร้อมทั้งได้เห็นชอบต่อแนวทางการเตรียมการในประเด็นสำคัญของแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของเศรษฐกิจดิจิทัล และได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเพื่อการบูรณาการโครงข่าย บรอดแบนด์ของภาครัฐและหน่วยงานในกำกับของรัฐ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และใช้ทรัพยากรโครงข่าย บรอดแบนด์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ อันจะนำไปสู่การให้บริการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับราคาที่เหมาะสม การเตรียมการเรื่องศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณภาครัฐ และยังเป็นการทำให้ศูนย์ข้อมูลดังกล่าว มีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัย และมาตรฐานคุณภาพด้านการให้บริการ รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่จะเป็น ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

             

นอกจากนี้ยังจะมีการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัลโดยส่งเสริมให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย ปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ภายใน 3 ปี และการสร้างธุรกิจใหม่ดิจิทัล (Digital Entrepreneurs) ไม่น้อยกว่า 300 ราย รวมถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านบริการใหม่ธุรกิจใหม่ที่ตลาดต้องการรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย ตลอดจนการเร่งรัดปรับปรุงบริการของภาครัฐไปสู่ Smart Service เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนมากที่สุด กล่าวคือการเป็นการให้บริการโดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งจะมีบริการจากกระทรวงนำร่อง 7 กระทรวงในระยะแรก จำนวน 100 บริการ ก่อนที่จะมีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่หน่วยงานอื่น ๆ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งจัดเตรียมการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบเปิด Massive Open Online Course (MOOC) พร้อมการเดินหน้าเพื่อเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 4G ภายในเดือนสิงหาคม 2558 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกในด้านดิจิทัล

             

สำหรับการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 4G นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้รับทราบขั้นตอนการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 4G และมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาคลื่นความถี่ที่สามารถนำมาให้บริการ 4G ที่เป็นสากล เพื่อให้เกิดการใช้คลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งควรเป็นการใช้คลื่นที่มีความถี่กว้างตั้งแต่ย่าน 1800 MHz. ถึง 2600 MHz. ที่ไม่มีการใช้งานหรือมีการใช้งานน้อย นำมาประมูลเพื่อให้บริการ 4G ซึ่งย่านความถี่ดังกล่าวมีการให้บริการ 4G ในหลายประเทศทั่วโลก

 

“ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นเรื่อง ที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสเพื่อเข้าถึงการเรียนรู้ พร้อมยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนั้นยังได้ขอให้คณะกรรมการฯ ร่วมมือกันในการช่วยลดความขัดแย้ง พร้อมมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประเทศไทยได้เดินไปข้างหน้าสู่สังคมที่ก้าวไกลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้นด้วย” นายพรชัยฯ กล่าว

 

ที่มา : กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร