ข้อควรรู้เกี่ยวกับ e-Tax Invoice & e-Receipt

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

      โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะคุ้นชินกับคำว่า “ใบกำกับภาษี” ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งเอกสารที่สำคัญที่เป็นหัวใจหลักของคนทำธุรกิจทุกคน โดยเฉพาะบริษัทหรือธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น เราจะมาทำความรู้จักกับใบกำกับภาษีให้มากขึ้นรวมถึงบทบาทของ e-Tax Invoice ว่าทั้งสองชนิดนี้ต่างกันอย่างไร แล้วสำคัญแค่ไหนกับธุรกิจเรามาดูบทความนี้กันค่ะ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ e-Tax Invoice & e-Receipt

     e-Tax Invoice คือ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ ใบกำกับภาษีรวมถึงใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ E-Tax Invoice by – Email

     e-Receipt คือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คือ ใบรับหรือใบเสร็จรับเงินที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้น เป็นข้ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล ด้วยวิธิการที่กรมสรรพากรกำหนด

e-Tax Invoice มีกี่แบบ

     1. e - Tax Invoice by E-mail

     คือ โครงการส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบของกรมสรรพากร โดยจะได้รับการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ : ETDA) แทนการส่งไปรษณีย์ พูดง่าย ๆ คือเป็นการส่งใบกำกับทาง Email ธรรมดา แต่ต้องอยู่ในรูปแบบที่กรมสรรพากรกำหนด (เงื่อนไข : เป็นธุรกิจขนาดเล็ก รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี)

     2. e-Tax invoice & Receipt

     คือ การจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบเสร็จรับเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าหรือโดยผู้รับบริการด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีที่ตกลงกัน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรผ่านช่องทางที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย

เปรียบเทียบความแตกต่าง

e - TAX Invoice & Receipt
     1. ไม่จำกัดรายได้
     2. จัดทำใบใบกับภาษี (เต็มรูป) (อย่างย่อ) / ใบเพิ่มหนี้ / ใบลดหนี้ และใบรับ
     3. จัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบไฟล์ XML หรือ อื่นๆ
     4. ใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (certificate Authority) และลงลายมือชื่อดิจิทัล

e - TAX Invoice by E-mail
     1. รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อปี
     2. จัดทำใบกำกับภาษี (เต็มรูป) (อย่างย่อ) / ใบเพิ่มหนี้ / ใบลดหนี้ และใบรับ
     3. จัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบไฟล์ PDF
     4. ประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email ของ สพธอ.

เอกสารสำคัญที่สามารถแปลงให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถนำส่งสรรพากรได้
     1. ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
     2. ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note) ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
     3. ใบลดหนี้ (Credit Note) ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
     4. ใบรับ (Receipt) ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ใครบ้างที่ออกใบกำกับภาษีได้ ?
     สำหรับผู้ที่ออกใบกำกับภาษีได้ ก็คือกิจการที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยทาง ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ และขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งการออกใบกำกับภาษีจะคำนวณจากภาษีขายแล้วหักด้วยภาษีซื้อ

ข้อดีของการใช้ e-Tax Invoice ภายในองค์กรหรือธุรกิจ
     - ช่วยลดภาระงานขององค์กรหรือธุรกิจในการจัดเก็บเอกสาร เพราะเมื่อมีการส่งข้อมูลภาษีซื้อ – ภาษีขาย ให้กับทางสรรพากรก็สามารถทำการจัดทำรายงานโดยอัตโนมัติ (Electronic VAT Report) ได้ทันที
     - ช่วยลดต้นทุนในการจัดทำเอกสาร หรือใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ
     - มีความสะดวกในการใช้งาน และประหยัดพื้นที่มากกว่า
     - มีความถูกต้องของข้อมูล ไม่เสี่ยงต่อการปลอมแปลงเอกสาร เพราะมีหมายเลขรับรองและลายมือชื่อดิจิทัลประกอบด้วย

ขั้นตอนการยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ระบบ e-Tax Invoice by Email มีดังนี้
     1. เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th เพื่อยื่นคำขอ
     2. กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล พิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม
     3. สแกน ก.อ.01 และเอกสารเกี่ยวข้องเพื่ออัปโหลดเอกสาร
     4. กรมสรรพากรตรวจสอบความถูกต้องและจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code)
     5. ยืนยันตัวตนผ่านทางเว็บไซต์ และกำหนดรหัสผ่านภายใน 15 วันทำการ
     6. แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษีและใบรับ
     7. ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

 

บทความโดย : นางสาวปิยวรรณ ปาสา ประจำสำนักคณะกรรมการบริหาร 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://etax.rd.go.th