ท่องเที่ยวกันเพลิดเพลินแล้ว อย่างไรก็เก็บแรงไว้บ้างนะครับ เพราะเรายังมีภาระหน้าที่ การงานรออยู่ ซึ่งขณะนี้ก็หมดไตรมาสที่ 1 แล้ว หลายกิจการคงรีบเร่งสรุปผลการดำเนินงานประจำไตรมาสออกมาแล้วเพื่อนำมาตรวจสอบกับ Action Plan ที่ได้เคยทำไว้ หรือนำมาปรับกลยุทธ์ในการประกอบกิจการ เพื่อให้ผลประกอบการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการประกอบธุรกิจธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจผลิต หรือแม้แต่ธุรกิจบริการ ก็คือ “การบริหารสินค้าคงเหลือ” เพราะสินค้าคงคลังนั้นถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ คือมีไว้เพื่อขาย หรือมีไว้เพื่อการผลิต ดังนั้นการบริหารสินค้าคงเหลือ ก็ถือได้ว่าเป็นการบริหารสภาพคล่องของกิจการ ประกอบกับสินค้าคงเหลือนั้นถือเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีปัญหาในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจนับสินค้าคงเหลือปัญหาที่มักพบคือสินค้ามียอดการบันทึกสูงกว่ายอดการตรวจนับจริง หรือประเด็นของสินค้าชำรุด สูญหาย เสื่อมสภาพ
ตกรุ่น หรือแม้แต่สินค้าถูกยักยอก ล้วนแต่เป็นปัญหาที่นักบัญชีต้องให้ความสนใจ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจจะนำไปสู่การบันทึกรายการบัญชีที่ไม่ถูกต้อง หรือประเด็นที่อาจจะกระทบต่อการประเมินของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรด้วยนะครับ
ก่อนที่จะบริหารสินค้าคงเหลือกันนั้น ทบทวนความรู้กันนิดนะครับว่า สินค้าคงเหลือ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2552) ให้ความหมายว่า “สินทรัพย์ซึ่งมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
1) ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ
2) อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย
3) อยู่ในรูปของวัตถุดิบ หรือวัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือให้บริการ”
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความหมายตามมาตรฐานการบัญชีแล้วจะเห็นได้ว่า สินค้าคงเหลือที่ต้องบริหารนั้นไม่ใช่เพียงแค่ Finished goods สินค้าสำเร็จรูป เท่านั้น หากแต่ยังมี งานระหว่างทำ Work in process วัตถุดิบ Raw Materials วัสดุโรงงาน Factory supplies อีกด้วย ดังนั้นแล้วการบริหารสินค้าคงเหลือ ตามแนวปฏิบัติของหลักการบัญชีนั้นจึงกำหนดให้การตีราคาสินค้าสามารถแสดงราคามูลค่าที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งหลักการวัดมูลค่าสินค้าคงเหลือนั้น จะต้องอาศัยการเทียบกันของราคาทุน กับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า (ซึ่งแตกต่างจากแนวหลักเกณฑ์ภาษีอากรนั้นจะวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า อันนี้ถือเป็นความแตกต่างระหว่างหลักบัญชีกับหลักภาษีอากร ครับ) เนื่องจากการแสดงรายการเกี่ยวกับมูลค่าของสินค้าคงเหลือนั้นจะมีผลกระทบต่องบการเงินของกิจการ หรือมีผลต่อผู้ใช้งบการเงิน และที่สำคัญไปกว่านั้น คือเป็นการแสดงให้เห็นว่านักบัญชียึดหลักความระมัดระวังในการแสดงรายการเกี่ยวกับราคาสินค้าในการบันทึกรายการบัญชีอีกด้วย
บางท่านอาจสงสัยว่า แนวทฤษฎีที่กล่าวไว้ กับแนวปฏิบัตินั้น ควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง (ถ้าหากอธิบายกันจริง ๆ เกรงว่าจะไม่มีเนื้อที่เพียงพอ งั้นผมขอนำเสนอเป็นตัวอย่างจะดีกว่านะครับ) ลองมาดูกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC จำกัด แสดงรายการสินค้าคงเหลือต้นงวด 300,000 บาท ซื้อสุทธิ 750,000 บาท ตรวจนับสินค้าคงเหลือราคาทุน มูลค่า 200,000 บาท มูลค่าสุทธิที่จะได้รับ จำนวน 185,500 บาท ปลายงวดกิจการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือ
การบันทึกรายการบัญชี ณ วันสิ้นงวด
เดบิต ขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ* 14,500.-
เครดิต สินค้าคงเหลือ/ค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลง 14,500.-
ซึ่งหากจะพิจารณาหลักการปฏิบัตินั้น แนะนำว่านักบัญชีทุกท่านครับว่าควรศึกษา และพิจารณาทั้งหลักการบัญชี และหลักการภาษีควบคู่กันครับ เพื่อจะได้เห็นภาพของการปฏิบัติที่ถูกต้องทั้งสองหลักการ
- การแสดงรายการต้นทุนขาย (คำนวณโดยการนำ สินค้าคงเหลือต้นงวด+ซื้อสุทธิ-สินค้าคงเหลือปลายงวด)
ตามหลักการบัญชีในงบกำไรขาดทุนของกิจการจะแสดงด้วยจำนวน 864,500 บาท ตามหลักการภาษี ข้อพิจารณาสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ทวิ(6) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถนำต้นทุนขายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 864,500 บาท
- ส่วนรายการขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ 14,500 บาท ตามหลักการบัญชีจะถูกบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่าย แต่ตามหลักภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น รายการขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือนั้น ไม่สามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ จึงเป็นเหตุให้ต้องทำการบวกกลับรายการ (เนื่องจากถือว่าเป็นรายจ่ายที่มิได้จ่ายจริง)
- สำหรับกรณีหากมีการขาดทุนจากสินค้าล้าสมัย/เสื่อมสภาพ/ขาดหาย เมื่อพิจารณาหลักการปฏิบัติตาม
หลักการบัญชีนั้นให้ถือการขาดทุนจากสินค้าล้าสมัย/เสื่อมสภาพ/ขาดหาย รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายได้ สำหรับหลักการปฏิบัติทางภาษีอากรนั้น ต้องแยกพิจารณาเป็นประเด็นแรกคือ การขาดทุนจากสินค้าล้าสมัย/เสื่อมสภาพ ไม่ให้รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายจนกว่าจะมีการจำหน่ายออกไป หรือปฏิบัติตามเกณฑื มาตรา 65 ตรี(1) และ ป.79/2541 เรื่องแนวทางการทำลายของเสีย/
มีตำหนิ/ล้าสมัย/หมดอายุ/เศษซาก และประการที่สอง การขาดทุนจากสินค้าขาดหาย ต้องมีหลักฐานและเข้าเกณฑ์ที่กำหนดใน ป.58/2538 เรื่องการตัดมูลค่าที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินสูญหายหรือชำรุด จึงจะบันทึเป็นค่าใช้จ่ายได้ มิฉะนั้นถือเป็นการขาย
จากที่นำเสนอมา อย่างที่กล่าวในขั้นต้นครับว่า การบริหารสินค้าคงเหลือนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่
นักบัญชีควรให้ยึดหลักความระมัดระวัง ในฉบับนี้ ฝากนักบัญชีลองกลับไปพิจารณาในเรื่องการควบคุมภายในเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือด้วยนะครับ เพราะบ่อยครั้งข้อผิดพลาดในการบันทึกบัญชีเรื่องที่ถือเป็นข้อหนึ่งที่นักบัญชีผิดพลาดบ่อยครั้งคือการจัดการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ และหวังว่าผมจะได้มีโอกาสนำเสนออีกในมุมมองต่อไป ๆ ฝากติดตามผลงานกันด้วยนะครับ ขอบคุณครับ