รับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 ชิงลงมือก่อนได้เปรียบ นักธุรกิจไทย “ยึดหัวหาด”

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

 

แนะนักธุรกิจรายกลางรายเล็ก รวมทั้งทางการไทยปรับตัวตั้งแต่วันนี้ สื่อสารถึงกันให้เข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปี 2015 พร้อมหาจุดเด่นของสินค้า/บริการของไทย เพื่อ ”ยึดหัวหาด” ก่อนที่ประเทศอื่นจะฉกฉวยไป เช่น เรื่องของท่องเที่ยว อาหาร บริการทางสุขภาพ โรงพยาบาล ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในปี 2015 ซึ่ง AEC จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ AEC เป็นมากกว่าเพียงเรื่องการจัดทำข้อตกลงลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันซึ่งเสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่ AEC ยังรวมถึงเรื่องการค้าบริการ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งยังมีอีกหลายส่วนประกอบที่ต้องทำอีกมาก จำเป็นที่นักธุรกิจไทยจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ และเร่งดำเนินการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จและสร้างประโยชน์จากการรวมกลุ่มดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำว่า แม้การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน หรือ AEC อาจจะยังไม่ยิ่งใหญ่ประสบความสำเร็จไปถึงขึ้นที่จะมีการรวมตัวกันแบบสหภาพยุโรปที่มุ่งหวังไว้ทันทีในปี 2015 นี้ เพราะเพียงแค่ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ อย่างกรณี ไทย-เขมร ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตกลงหรือลงเอยกันได้ง่ายๆ กลับต้องไปขึ้นเวทีระดับโลก แต่อย่างไรก็ตาม AEC จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ และก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะค่อยๆทยอยเกิดขึ้นและจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งดำเนินการปรับตัวรองรับและก้าวเข้าไปให้ทัน

 

เมื่อถามว่าธุรกิจไทยจะก้าวอย่างไรใน AEC…ดร.เศรษฐพุฒิ ย้ำว่า การดำเนินธุรกิจแบบ “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” คงไม่เหมาะกับเมืองไทยในยุค AEC อีกต่อไป เพราะอย่างที่ย้ำว่ากระแสอาเซียนไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องเกิด เป็นเรื่องของการรวมศูนย์ ดังนั้นจึงยิ่งจำเป็นที่ประเทศไทย นักธุรกิจไทยจะต้องเร่ง “ยึดหัวหาด” เอาไว้ก่อน

“อยากย้ำว่าเรามีความจำเป็นต้องรีบทำก่อนคนอื่นจะแย่งโอกาสของเราไป”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ แนะวิธีการ “ยึดหัวหาด” ก่อนที่จะถึงปี 2015 ว่า สิ่งที่จำเป็นมากในการแสวงหาโอกาส คือการหาจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของไทยที่เราทำเก่งควบคู่กันไปกับจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของอาเซียน

“เราต้องมองไปไกลกว่า ทั้งในแง่คู่แข่งและการตลาด ไม่ใช่มองเจาะแค่ตลาดไทย คือไม่ใช่ต้องไปลงทุน แต่ถ้าเราทำได้ดีลูกค้าจะมาหาเอง อย่างเช่น ธุรกิจโรงพยาบาล เรื่องของการรักษาโรคเฉพาะทางที่เราทำขึ้นเพื่อให้บริการคนไทยแต่ในที่สุดคนจากที่ต่างๆ ก็มาใช้บริการ เพราะเรามีจุดเด่นด้านนี้ หรืออย่างธุรกิจโรงแรมที่มีการจัดงานแต่งงาน ซึ่งเราก็ทำกันเพื่อให้บริการตลาดในไทย แต่ด้วยจุดเด่นก็ทำให้ต่างชาติแห่เข้ามาจัดงานแต่งงานในเมืองไทยมากมาย

 

หรืออย่างเรื่องของการท่องเที่ยว เราก็มีจุดเด่นมาก นอกจากนี้ไทยยังเก่งเรื่องอาหาร ซึ่งอาเซียนก็มีจุดเด่นตรงที่เป็นที่รวมกลุ่มของประชาชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก การที่จะทำให้เราเป็นศูนย์ผลิตอาหารฮาลาลก็เป็นเรื่องที่โดดเด่นอย่างนี้เป็นต้น”

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ขณะนี้จะถึงปี 2015 แล้วแต่นักธุรกิจและทางการยังไม่ตื่นตัวที่จะรับมือเท่าที่ควร ซึ่งเวลานี้ควรที่จะเริ่มได้แล้ว

“ถ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของแบงก์ ก็ต้องยอมรับว่าเขามองตลาดไปไกลเกินกว่าอาเซียน เขาไปถึงยุโรปอะไรกันแล้ว ยิ่งเรามีเรื่องความวุ่นวายการเมือง เรื่องมาบตาพุด เขาก็ไปดูกันไกลแล้ว ว่าจะไปอย่างไรแบบไหน ส่วนธุรกิจเล็กๆ ก็ต้องบอกว่ายังมีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมสำหรับ AEC ไม่มากนัก

 

แม้แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็เตรียมพร้อมของเขาไป แต่ว่าการสื่อสารกับภาคเอกชน ยังน้อยมาก เพราะว่าเรื่องพวกนี้เราทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดแต่ต้องสื่อสารให้เอกชนรู้แต่เนิ่นๆ ซึ่งการดำเนินการในปัจจุบันนี้ยังน้อยอยู่ ยังไม่พอเลย ตัวอย่างเช่น ภาษีอาฟตาเตรียมมานานแล้ว แต่ว่ายังขาดอยู่ในการสื่อสาร ยังมีคนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ซึ่งถ้าเราบอกว่าจะต้องเร่งยึดหัวหาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ยิ่งต้องสื่อสารกัน ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ความจริงเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง สิ่งที่ทำแล้วมีหลายอย่างเช่น การค้า การลดภาษีภายใต้อาฟตา

ส่วนที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2015 มีด้วยกัน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1 การลงทุนในภาคบริการซึ่งเราจะเปิดซิลลิ่ง การลงทุนจากต่างชาติภายใต้ประชาคมอาเซียน คือจากที่ลิมิตกันที่ 49% เป็น 70% โดยมีที่เปิดไปแล้วเมื่อปี 2010 จำนวน 4 เซ็คเตอร์ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ , สุขภาพ , ท่องเที่ยว , สายการบิน จากนี้ในปี 2013 จะเปิดอีกคือ เรื่องของโลจิสติกส์ และปี 2015 ก็จะเปิดที่เหลือ

นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้น ก็คือให้เคลื่อนย้ายเรื่องของแรงงานวิชาชีพอิสระ เช่นแพทย์ สถาปนิก วิศวะ บัญชี

 

“ถามว่าปี 2015 หน้าตาจะเป็นอย่างไร คำตอบคือยังไม่ถึงกับ สหภาพยุโรป เป็นเพราะว่าหลายเรื่องที่ทำไม่ไปถึงขึ้นนั้น เช่น เรื่องของเพดานการลงทุน ยุโรปยกเป็น 100% เราแค่ 70% เรื่องเคลื่อนย้ายแรงงานเขาครบถ้วน แต่เราจำกัดเฉพาะบางวิชาชีพ นอกจากนี้เราจะเป็นแบบสหภาพยุโรปไม่ง่าย เพราะเขามีการสร้างหน่วยงานที่เหนือภาครัฐ อย่างเช่นมีธนาคารกลางยุโรป แต่อาเซียนต่างก็มีธนาคารกลางกันเอง ของเราสกุลเงินอีกหลายสิบปีก็คงไม่เห็นเงินสกุลเดียว”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ยังระบุถึงการศึกษาเกี่ยวกับ AEC ที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาพบว่า AEC จะทำให้ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ โรงแรมและรีสอร์ทมีแนวโน้มต้องแข่งขันกับเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาจากการเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นสัดส่วน 70% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดสัดส่วนเฉลี่ย 49% ยังอาจส่งผลให้เกิดสมองไหลของแรงงานวิชาชีพไปยังสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า ในขณะที่ธุรกิจบริการจะมีโอกาสการลงทุนในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมากขึ้น

 

“กลุ่มธุรกิจบริการจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากการเปิดเสรีหลักๆ ใน 2 ส่วน คือ 1) กลุ่มธุรกิจบริการที่มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นสูงอยู่แล้วในปัจจุบันมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่าจากการเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ โรงแรมและรีสอร์ท เพราะหมายความว่าเป็นธุรกิจที่มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนสูงในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเข้ามามากขึ้นเมื่อมีการขยายเพดาน 2) AEC ยังอาจส่งผลให้แรงงานวิชาชีพสำคัญของไทยเลือกไปทำงานในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนสุทธิที่พิจารณาผลกระทบจากค่าครองชีพที่ไม่เท่ากันด้วยแล้วสูงกว่าทำงานอยู่ในไทยประมาณ 3 เท่า ทั้งนี้ เป็นผลจากการเอื้ออำนวยให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพระหว่างประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น”

 

จากการศึกษายังพบว่า กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์คือ AEC เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจบริการในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังมีอัตรากำไรของธุรกิจที่สูงกว่าในไทย เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า และห้างสรรพสินค้าในสิงคโปร์ บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการด้านซอฟท์แวร์อินเตอร์เน็ตในมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ต้องเปิดเพดานการลงทุนจากนักลงทุนอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน

 

“AEC เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยทั้งทางด้านตลาดที่ไทยต้องก้าวออกไปนอกประเทศมากขึ้น และด้านการแข่งขันที่จะเป็นกลไกทำให้ธุรกิจปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่จะมาตักตวงโอกาสในประเทศได้ แม้ว่าจะเริ่มมีการบังคับใช้อย่างครบถ้วนมากขึ้นในปี 2015 แต่ธุรกิจไทยควรเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องรอ” 

 

ที่มา : www.dbbnews.com