ตัวอย่าง บริษัท สินทรัพย์ จำกัด ได้ซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร 1 เครื่อง โดยมีราคาเงินสด 100,000 บาท หากซื้อโดยการเช่าซื้อผ่อนชำระจะต้องชำระเงินเริ่มแรก 30,000 บาท ส่วนที่เหลือให้ผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือนเป็นเงินเดือนละ 8,000 บาท จำนวน 12 งวด การบันทึกบัญชีต้นทุนของทรัพย์สินจะแสดงดังนี้
เงินวางเริ่มแรก | 30,000 บาท |
ผ่อนค่างวด 8,000 x 12 | 96,000 บาท |
รวมเงิน | 126,000 บาท |
เเดบิต เครื่องใช้สำนักงาน | 100,000 |
ดอกเบี้ยรอตัดบัญชี | 26,000 |
เครดิต เจ้าหนี้เช่าซื้อ | 126,000 |
เมื่อสิ้นงวดบัญชีกิจการจะต้องคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินจากมูลค่าต้นทุน 100,000 บาท ตามมาตรฐานการบัญชี
ข้อสังเกต ต้นทุนของทรัพย์สินตามประมวลรัษฎากรจะไม่เท่ากับมาตรฐานการบัญชี เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้กำหนดต้นทุนของทรัพย์สินที่เกิดจากการเช่าซื้อผ่อนชำระไว้ในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 145 ไว้ดังนี้
“มาตรา 7 ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือโดยการซื้อขายเงินผ่อนมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น”
ต้นทุนของทรัพย์สินที่เกิดจากการเช่าซื้อผ่อนชำระตามประมวลรัษฎากรหมายถึง มูลค่าทั้งหมดที่กิจการได้จ่ายไปในการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระ หรือหมายถึง มูลค่าทั้งหมดตามสัญญาเช่าผ่อน ผ่อนชำระ จากตัวอย่างข้างต้นหากยึดตามประมวลรัษฎากรต้นทุนของเครื่องถ่ายเอกสารในการเช่าซื้อผ่อนชำระจะเป็นเงิน 126,000 บาท (ราคาเงินสด 100,000 บาท + ดอกเบี้ย 26,000 บาท)
แนวปฏิบัติในการซื้อทรัพย์สินโดยการเช่าซื้อผ่อนชำระจะบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี เมื่อยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 จะทำการปรับปรุงกำไรสุทธิให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประมวลรัษฎากร ในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางบัญชีกับประมวลรัษฎากรจะได้จำนวนเงินค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากัน
จากตัวอย่างข้างต้น หากกิจการคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตรา 20% ต่อปีโดยวิธีเส้นตรง หากกิจการซื้อทรัพย์สินมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี 31 ธันวาคม ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินทางบัญชีและประมวลรัษฎากรจะคำนวณได้ดังนี้
หลักบัญชี | หลักภาษีอากร | |
ราคาทุน | 100,000 | 126,000 |
หัก: ค่าเสื่อมราคา 20% | 20,000 | 25,200 |
คงเหลือ | 80,000 | 100,800 |
หากเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีหรือหลักบัญชี กิจการจะบันทึกค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังนี้
เดบิต ค่าเสื่อมราคา | 20,000 |
เครดิต ค่าเสื่อมราคาสะสม | 20,000 |
ปัญหาต้นทุนของทรัพย์สินที่เกิดจากการเช่าซื้อผ่อนชำระทั้งมาตรฐานการบัญชีกับประมวลรัษฎากรที่มีข้อขัดแย้งกัน ในการบันทึกบัญชีจะต้องยึดหลักบัญชี เมื่อยื่นงบการเงินเพื่อเสียภาษีอากรจะต้องยึดหลักภาษีอากร ซึ่งหลักบัญชีจะต้องไม่สูงกว่าหลักภาษี หากหลักบัญชีสูงกว่าหลักภาษีจะต้องปรับปรุงในแบบ ภ.ง.ด.50