ทบทวนรายการปิดบัญชี ก่อนออกงบการเงิน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

สวัสดีท่านสมาชิกแฟนเพจ และผู้ที่สนใจด้านการจัดทำบัญชี ผู้ทำบัญชีทุกท่าน หลายท่านอาจหลงลืมวิธีการในการปิดบัญชีสมัยที่เรียนไปบ้างแล้ว เพราะต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศทางการบัญชีเข้ามามีบทบาทมากในการปฏิบัติงาน ทำให้เราอาจหลงลืมว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เราจัดการเข้าไปสู่ระบบมีการไหลของข้อมูลไปอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามมีบางสิ่งที่ระบบสารสนเทศพวกนี้ไม่สามารถทำงานแทนเราได้ นั่นก็คือการทบทวนรายการก่อนทำการปิดบัญชี วันนี้มีเทคนิคดี ๆ มานำเสนอให้สำหรับการพิจารณารายการปิดบัญชี ลองตามอ่านกันดูนะจ๊ะ...

ประเด็นที่หนึ่ง หลังจากที่ผ่านมาตลอดทั้งปี นักบัญชีได้มีรวบรวมเอกสารหลักฐานประกอบกับการบันทึกรายการ

ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกิจการ อาทิ การบันทึกเกี่ยวกับรายได้ (ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 18) การบันทึกเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย หรือการบันทึกเกี่ยวกับสินค้า (ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2) หรือการบันทึการได้มาของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ (ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16) ฯลฯ ซึ่งหากมีการสอบทานความถูกต้องด้วยการออกงบการเงิน หรือมีการจัดทำงบทดลองประจำเดือน หรือประจำไตรมาส ก็จะทำให้นักบัญชีสามารถรวบรวมข้อมูลสรุปผลทั้งปีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

สำหรับประเด็นนี้ขอยกตัวอย่างเรื่องแรก เป็นเรื่องของบันทึกรับรู้รายได้ สำหรับกิจการที่ประกอบการเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้า เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการบันทึกรายการ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีนักบัญชีสอบถามกันมาบ่อยครั้งเกี่ยวกับ ปัญหาของการรับรู้รายได้ของธุรกิจขายสินค้า ว่าจะรับรู้เมื่อใด จึงขอแนะนำหลักการพิจารณาเบื้องต้นเพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการบันทึกรายได้ดังนี้

  • จุดพิจารณาในเรื่องของการโอนความเสี่ยง และผลตอบแทน ซึ่งนัยสำคัญของข้อพิจารณานี้คือ ผู้ซื้อได้สินค้าและมีความเป็นเจ้าของในตัวสินค้าเรียบร้อยแล้ว เมื่อนั้นถือได้ว่าเป็นจุดที่ต้องรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการบัญชี

***สำหรับจุดการรับรู้รายการจุดนี้มักเกิดข้อผิดพลาดในการพิจารณารายการ ซึ่งบางครั้งนักบัญชีบางท่านพบว่าเวลาที่ปฏิบัติงานจริงไม่ได้สนใจในเรื่องของการโอนความเสี่ยง แต่ให้น้ำหนักและความสำคัญกับการออกใบกำกับภาษีมากกว่า และมักเข้าใจผิดพลาดในการพิจารณารายการโดยนำหลักการทางภาษีมาพิจารณาร่วมด้วย ทำให้การรับรู้รายการไม่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของกิจการ จุดนี้นักบัญชีที่ยังขาดความเข้าใจคงต้องให้น้ำหนักและความสำคัญกับการพิจารณารายการลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน***

  • รับรู้เมื่อสามารถวัดรายได้จากการจำหน่ายสินค้าได้อย่างน่าเชื่อถือ
  • มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากรายการนั้น ซึ่งการพิจารณาสำหรับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ คือเมื่อกิจการได้รับผลตอบแทนจากการขายสินค้าแล้ว หรือความไม่แน่นอนได้หมดไปแล้ว
  • ไม่เกี่ยวข้องในการบริหารสินค้าอย่างต่อเนื่องในระดับที่เจ้าของพึงกระทำ หรือไม่ได้ควบคุมสินค้าที่ขายไปแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรายการนี้เป็นรายละเอียดที่มักมีคำถามไปถึงตอนที่มีการตรวจนับรายการสินค้าคงคลัง มักมีการแจ้งว่า “สินค้ารอการจัดส่ง” ซึ่งในความจริงแล้ว ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดด้วยเช่นกัน เพราะการรอการจัดส่งแต่กิจการยังมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสินค้าอยู่นั่น ในการพิจารณารายการนี้ก็ยังไม่ถือเป็นการจำหน่ายสินค้าที่สมบูรณ์ สินค้าจำนวนนี้ยังคงต้องทำการตรวจนับและรับรู้รายการไว้ในงบการเงินจนกว่าการดำเนินการส่งของดังกล่าวจะยุติลง
  • วัดมูลค่าของต้นทุนที่เกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ รายการนี้ไม่ยากในทางปฏิบัติเพราะโดยปกติ การจะขายสินค้าสักชิ้น ก็จะทราบถึงต้นทุนของสินค้าที่จำหน่ายเป็นปกติอยู่แล้วเช่นกัน

หลักการของการรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการบัญชี กรณีที่ขายสินค้า สิ่งที่สำคัญที่ถูกระบุในมาตรฐานถือเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อ ดังนั้น ผู้ทำบัญชี ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีจะต้องให้น้ำหนักและให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการเพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง

 

ส่วนการรับรู้รายได้ของธุรกิจบริการนั้น จะมีหลักการพิจารณาที่แตกต่างจากธุรกิจจำหน่ายสินค้าเนื่องจากสินค้าของธุรกิจบริการนั้นไม่สามารถจับต้องได้ ดังนั้นแล้วหลักการพิจารณาจึงสรุปพอสังเขปได้ดังนี้ครับ

  • กิจการสามารถวัดมูลค่าของรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยสามารถวัดขั้นความสำเร็จของการบริการได้ อาทิ การสำรวจงานที่ได้ทำแล้ว, อัตราส่วนของการบริการที่ให้จนถึงปัจจุบันโดยเทียบเคียงกับการบริการทั้งสิ้นที่ต้องให้บริการ เป็นต้น
  • สำหรับการบริการที่มีระยะเวลาการให้บริการเป็นช่วง กิจการสามารถรับรู้รายได้โดยใช้วิธีเส้นตรงในการวัดมูลค่าของรายได้ตลอดช่วงเวลาของการให้บริการ ทั้งนี้หากมีการบริการที่มีบริการอื่นร่วมด้วยจากบริการหลัก ให้ทำการรับรู้รายได้บริการหลักให้เสร็จสิ้นก่อนจึงรับรู้รายได้บริการอื่น

 

**โปรดติดตามตอนต่อไป**