Update กฎกระทรวงฉบับที่ 313 (พ.ศ. 2559) “บ้านหลังแรก” ลดหย่อนภาษีได้ 20%

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

จากการที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เล่มที่ 133 ตอนที่ 13ก ซึ่งเป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 313 (พ.ศ. 2559)

สำหรับ "โครงการบ้านหลังแรก" ที่มีการประกาศออกเป็นกฎหมายตามรายละเอียดข้างต้น สาระสำคัญที่ควรทราบ ถึงเงื่อนไขและวิธีการในการลดหย่อนสำหรับประเด็นดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

 

ให้สิทธิกับบ้านใหม่พร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียม ก็ได้แต่ประเด็นสำคัญคือราคาของทรัพย์นั้นจะต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท (กรณีที่เกินกว่า 3 ล้านบาทก็ใช้สิทธิไม่ได้)

 

สิทธินี้จะสามารถใช้งานได้กับผู้ที่ไม่เคยมีบ้านเป็นชื่อของตนเอง หรือเคยใช้สิทธิบ้านหลังแรกมาก่อน

 

บ้านหลังนี้ที่จะได้สิทธิจะต้องมีการซื้อระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559 (โดยได้สิทธิครั้งแรกในรอบปีที่ซื้อ นั่นหมายความว่าหากจะยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของรอบปี 2558 ละจะนำบ้านหลังแรกมาใช้สิทธิจะต้องเป็นบ้านที่ซื้อในปี 2558 ด้วยเช่นกัน)

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับนั้นจะใช้เป็นรายการลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ โดยได้รับสิทธิ 20% ของราคาบ้าน แต่การได้รับสิทธินั้นจะเป็นการทยอยใช้เป็นเวลา 5 ปี ปีละเท่า ๆ กัน นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ท่านจะได้ปีละ 4% ของราคาบ้าน ซึ่งสิทธินี้ให้สูงสุดอยู่ที่ปีละ 120,000 บาท ยกตัวอย่าง นายโชคดี ซื้อบ้านหลังใหม่ ในปี 2558 เป็นบ้านหลังแรก ราคาอยู่ที่ 3,000,000 บาท จะได้รับสิทธิลดหย่อน (3,000,000 x 20%) เท่ากับ 600,000 บาท โดยเฉลี่ยใช้สิทธิ 5 ปี ซึ่งจะได้ปีละ (600,000 ÷ 5 ปี) เท่ากับ 120,000 บาท ซึ่งนั่นหมายความว่านายโชคดีจะได้รับสิทธิลดหย่อนนี้ไปจนรอบปีภาษี 2562 แต่หากซื้อในปี 2559 จะได้รับสิทธิไปจนถึงปี 2563 โดยประเด็นนี้จะต้องพิจารณาจากปีที่มีการซื้อเกิดขึ้นประกอบด้วย

 

สิทธิพิเศษดีๆ แบบนี้เหมาะกับผู้ที่อยากมีบ้าน และอยากใช้สิทธิ นโยบายนี้ก็ถือได้ว่าส่งเสริมให้คนไทยมีบ้าน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายชำระร่วมด้วยเช่นกัน อย่าลืมศึกษาสิทธิประโยชน์ บวกกับเงินในกระเป๋าของเราด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ลาไปก่อนแล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ ^_^

 

ที่มา : facebook.com/Aj.thanapon