วิธีการบันทึกรายการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือตามมาตรฐานการบัญชี (ตอนที่ 1)

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

วิธีการบันทึกรายการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือตามมาตรฐานการบัญชี 

>>การบันทึกรายการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือตามมาตรฐานการบัญชี

ตอบ หลักการบันทึกรายการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2 (สำหรับวิธีการบันทึกบัญชีสำหรับกรณีสินค้าคงเหลือนั้นมีหลักการในการบันทึกบัญชี 2 ระบบด้วยกันคือ Periodic และ Perpetual ซึ่งวิธีการในการบันทึกบัญชีนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายการบัญชีของกิจการ และในการเลือกระบบในการบันทึกบัญชี ก็จะมีผลต่อการเลือกวิธีการตีราคาสินค้าคงเหลือด้วย

สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินทรัพย์ซึ่ง มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. ถือไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ
  2. อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสําเร็จรูปเพื่อขาย
  3. อยู่ในรูปของวัตถุดิบ หรือ วัสดุที่มีไว้เพื่อใช้ ในกระบวนการผลิตสินค้าหรือ  ให้บริการ

บันทึกราคาทุน ประกอบด้วย ต้นทุนในการซื้อ ต้นทุนแปลงสภาพ

ต้นทุนในการซื้อ ตามมาตรฐานการบัญชีได้มีการระบุองค์ประกอบเพื่อการรับรู้รายการ ว่าต้องประกอบไปด้วยราคาซื้อ อากรขาเข้า ภาษีอื่นๆ (สุทธิจากจำนวนที่ได้คืนภายหลังจากหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี) รวมถึงค่าขนส่ง 

ค่าขนถ่าย และต้นทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการได้มาซึ่งสินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบ และบริการ ในการคำนวณหาต้นทุนในการซื้อสินค้าให้นำส่วนลดการค้า เงินที่ได้รับคืน และรายการอื่นที่คล้ายคลึงกัน มาหักออกด้วย

ต้นทุนแปลงสภาพ มาตรฐานบัญชีได้ระบว่า เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าที่ผลิต เช่น ค่าแรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั้งคงที่ และปันส่วนอย่างเป็นระบบ และค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อแปลงสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป 

ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ต้นทุนการผลิตทางอ้อมที่เกิดขึ้นในการผลิตโดยไม่สัมพันธ์กับปริมาณการผลิต เช่น ค่าเสื่อมราคา และค่าบำรุงรักษาอาคารโรงงานและอุปกรณ์โรงงาน และต้นทุนเกี่ยวกับฝ่ายจัดการโรงงานและการบริหารโรงงาน

ค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปร คือ ต้นทุนการผลิตทางอ้อมที่ผันแปรโดยตรง หรือค่อนข้างจะผันแปรโดยตรงกับปริมาณการผลิต เช่น วัตถุดิบทางอ้อม และค่าแรงงานทางอ้อม

การปันส่วนค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่เข้าสู่ต้นทุนแปลงสภาพ อ้างอิงจากฐานกำลังการผลิตปกติ (กำลังการผลิตปกติ คือ การผลิตที่คาดว่าจะผลิตได้โดยเฉลี่ยในหลายช่วงเวลาหรือในหลายฤดูกาลภายใต้สภาวการณ์ปกติ) สำหรับช่วงเวลาที่มีการผลิตสูงผิดปกติจำนวนค่าใช้จ่ายคงที่ต่อหน่วยก็จะถูกปันส่วนเข้าสินค้าแต่ละหน่วยที่ผลิตน้อยลง เพื่อไม่ให้สินค้าคงเหลือมีมูลค่าสูงกว่าต้นทุน ค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปรจะปันส่วนเข้าสินค้าแต่ละหน่วยที่ผลิตตามต้นทุนการผลิตที่ใช้จริง


ในกระบวนการผลิตหนึ่งอาจมีการผลิตผลิตภัณฑ์พร้อมกันมากกว่าหนึ่งชนิด เช่น กรณีที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ร่วมหรือกรณีที่มีผลิตภัณฑ์หลัก และผลิตภัณฑ์พลอยได้ หากต้นทุนแปลงสภาพของแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่อาจระบุแยกกันได้อย่างชัดเจน ก็ให้ใช้เกณฑ์การปันส่วนที่สมเหตุสมผล และสม่ำเสมอ 

ต้นทุนอื่น การจะนำไปรวมเป็นต้นทุนสินค้าคงเหลือได้ ต้นทุนนั้นต้องเกิดขึ้นเพื่อทำให้สินค้าคงเหลืออยู่ในสถานที่ และสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนที่ไม่นำมารวมเป็นต้นทุนสินค้าคงเหลือ และให้รับรู้เป็นค่าใช้จ่าย

  • วัตถุดิบ ค่าแรงงานหรือค่าใช้จ่ายในการผลิต ที่สูญเสียเกินกว่าปกติ
  • ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า เว้นแต่เป็นต้นทุนที่จำเป็นในกระบวนการผลิตก่อนจะถึงขั้นตอนการผลิตถัดไป
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ไม่เกี่ยวกับการทำให้สินค้าอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • ต้นทุนในการขาย

ในบางกรณี อาจมีการนำต้นทุนการกู้ยืมมารวมเป็นต้นทุนของสินค้าคงเหลือ หากสินค้านั้นเข้าเงื่อนไขตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 23 บางเหตุการณ์กิจการอาจซื้อสินค้าโดยมีการจ่ายชำระเงินนานเกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับสินเชื่อตามปกติ กรณีนี้ผลต่างระหว่างจำนวนเงินที่จ่ายจริงกับราคาซื้อที่ต้องจ่ายภายใต้เงื่อนไขการให้สินเชื่อตามปกติ ให้รับรู้ดอกเบี้ยจ่ายตลอดระยะเวลาการจัดหาเงิน

โดย อาจารย์ธนพล สุขมั่นธรรม