วิธีการบันทึกรายการเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือตามมาตรฐานการบัญชี (ตอนที่ 2 ตอนจบ)

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

>>วิธีการตีราคาสินค้าคงเหลือ จุดเด่น และจุดด้อยของวิธีการที่ควรเลือกให้เหมาะกับธุรกิจ 


ตอบ วิธีราคาเจาะจง วิธีจะสอดคล้องกับระบบการบันทึกแบบต่อเนื่อง เพราะสินค้าแต่ละชิ้นจะมีมูลค่าเป็นของตัวเอง เมื่อมีรายการซื้อหรือรายการขายสินค้าก็จะบันทึกจำนวนของสินค้าชิ้นนั้นเลย ดังนั้นวิธีนี้จึงเหมาะกับสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่สามารถสับเปลี่ยนได้ เช่น เครื่องเพชรหรือชุดเฟอร์นิเจอร์สั่งทำ เป็นต้น หากใช้วีธีนี้กับสินค้าที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็น


วิธีเข้าก่อนออกก่อน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและบันทึกได้ไม่ยุ่งยาก ซึ่งจากชื่อก็ได้บอกอยู่แล้วว่า "เข้าก่อน ออกก่อน" หรือหากจะขยายความก็คือ หากสินค้า A, B, C เข้ามาในโกดังตามลำดับ เมื่อขายออกไป สินค้า A ย่อมต้องออกก่อนสินค้า B และ C การบันทึกด้วยวิธีเข้าก่อน ออกก่อนสามารถใช้ได้กับทั้งระบบการบันทึกแบบสิ้นงวดและแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะแตกต่างกันในรายละเอียดการบันทึก แต่มูลค่าของสินค้าคงเหลือที่ได้จะเท่ากัน


วิธีนี้มักจะใช้กับสินค้าทั่วๆ ไปซึ่งมีลักษณะเหมือนกัน ซึ่งมีข้อดีในการแสดงราคาสินค้าคงเหลือ เพราะเมื่อถึงสิ้นปี สินค้าคงเหลือนั้นจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าในตลาดมากที่สุด สามารถแสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินของบริษัทได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ประกอบกับเป็นวิธีที่เข้าใจง่ายไม่ยุ่งยาก ทำให้วิธีเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม


วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก Weighted-average สำหรับวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ต้นทุนต่อหน่วยก็คือต้นทุนสินค้าสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย หารด้วยจำนวนหน่วยที่มีไว้เพื่อขาย ซึ่งจะคำนวณเมื่อสิ้นงวด


วิธีถัวเฉลี่ยเคลื่อนไหว Moving-average วิธีต่อมาคือวิธีถัวเฉลี่ยเคลื่อนไหว ซึ่งการคิดคำนวณจะทำตลอดเวลาและทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้าเข้ามา มูลค่าของสินค้าคงเหลือก็จะเปลี่ยนไป จะมีการนำสินค้าที่ซื้อเข้ามาใหม่ไปถัวเฉลี่ยกับสินค้าคงเหลือ จึงทำให้วิธีนี้ยุ่งยากมากกว่าวิธีอื่นๆ


วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแบบนี้เหมาะกับบริษัทที่ซื้อวัตถุดิบมาเพื่อผลิต เพราะต้นทุนสินค้าจะถูกนำมาเฉลี่ยและแสดงต้นทุนโดยรวมของสินค้าที่ผลิตขึ้นได้ดีกว่าวิธีอื่น นอกจากนี้วิธีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลประกอบการในภาพรวมได้ชัดเจนกว่าวิธีอื่นๆ อีกด้วย ทั้งนี้ความเหมาะสมของการใช้วิธีถัวเฉลี่ยยังต้องสัมพันธ์กับลักษณะของวัตถุดิบอีก เพราะหากวัตถุดิบมีมูลค่าสูงและมีลักษณะเฉพาะ วิธีนี้ก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน


วิธีที่เหมาะสมสำหรับกรณีข้างต้นควรเป็นวิธีราคาเฉพาะ เพราะสามารถแสดงให้เห็นว่าวัตถุดิบได้ใช้ไปเท่าไรอย่างถูกต้องที่สุด เนื่องจากราคาของวัตถุดิบสูงและมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่วิธี "เข้าก่อน ออกก่อน" เหมาะกับธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป เพราะการดูแลและการควบคุมทำได้ง่ายกว่า อีกทั้งยอดสินค้าคงเหลือยังเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดมากกว่าวิธีอื่นอีกด้วย


การเลือกวิธีคำนวณมูลค่าของสินค้าคงเหลือได้เหมาะสม นอกจากจะทำให้การบริหารสินค้ามีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย และยังทำให้ตัวเลขงบการเงินแสดงสถานะทางการเงินได้อย่างถูกต้องอีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้บริหารสามารถเห็นสภาพที่แท้จริงขอบงบริษัทได้ และหากมีปัญหาทางการเงินเกิดขึ้นก็สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและแก้ได้อย่างทันท่วงที

 

โดย อาจารย์ธนพล สุขมั่นธรรม