UPDATE ข่าวการประชุมใหญ่สามัญของวิชาชีพบัญชี

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

       การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องที่สรุปและเป็นวาระนำเช้าที่ประชุมหลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญและเป็นที่สนใจประเด็นหนึ่งคือการนับชั่วโมงของผู้สอบบัญชี

 

       การนับชั่วโมงของผู้สอบบัญชีนั้นเดิมได้กำหนดให้มีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง 1 ปี 18 ชั่วโมง โดยจะต้องเป็นวิชาด้านบัญชีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งจากการประชุมมีความเห็นให้จำนวนชั่วโมงของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 40 ชั่วโมงต่อปี

 

       เหตุผลและที่มาที่ไปของการเพิ่มจำนวนชั่วโมงขึ้นมานั้นมีหลายปัจจัย เหตุหนึ่งคือ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สอบบัญชีของประเทศไทยมีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรฐานสากล และเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในคุณภาพของผู้สอบบัญชีต่อนานาชาติ จึงได้เห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มข้อบังคับของสภาวิชาชีพบัญชีขึ้น โดย มาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (IES) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง ของผู้สอบบัญชีเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องแบบเป็นทางการ และ การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องแบบไม่เป็นทางการ รวมถึงการปรับปรุงจำนวนชั่วโมงเพิ่มขึ้นเป็น 40 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งร่างข้อบังคับจะเป็นไปดังนี้

          -การกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง ที่เป็นทางการ และการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องที่ไม่เป็นทางการ

          -กำหนดการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพจาเดิม 18 ชั่วโมงต่อปี เป็น 40 ชั่วโมงต่อปี โดยจะต้องเป็นการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพที่เป็นทางการจำนวนอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อปี และการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องที่ไม่เป็นทางการ จำนวนอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อปี

       คำถามเกิดขึ้นทันทีครับว่า การอบรม 20 ชั่วโมงแบบที่เป็นทางการ และ การอบรม 20 ชั่วโมงที่ไม่เป็นทางการมันคืออะไร แน่นอนครับจำนวนชั่วโมงหลักของส่วนที่เป็นทางการ 20 ชั่วโมงคือ การอบรมสัมมนา ตามที่ทุกท่านคุ้นเคยและปฏิบัติเป็นประจำตามหลักเกณฑ์เดิม 1 ปี 18 ชั่วโมง แต่ร่างที่จะเปลี่ยนแปลงจำนวนขั่วโมงที่เป็นทางการหลักจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ชั่วโมง แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องแบบไม่เป็นทางการอีก 20 ชั่วโมงที่เหลือมีอะไรบ้าง ซึ่งตามร่างแบ่งออกได้ดังนี้

       1.อบรมหรือสัมมนา

       2.รับฟังข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ

       3.อ่านวารสารวิชาการ

       4.เข้าร่วมประชุม

       5.ศึกษาดูงาน

       6.วิทยากร ผู้บรรยาย

       7.สัมภาษณ์/สอบถาม

       8.เขียนวารสาร บทความ

       9.ชั่วโมง CPD ส่วนที่เกินจากแบบเป็นทางการ

       โดยแต่ละหัวข้อกิจกรรมนั้น จะมีหลักเกณฑ์การนับชั่วโมงที่แตกต่างกัน และหลักฐานที่จะต้องจัดเก็บซึ่งจะมีรายละเอียดและตัวอย่างและกิจกรรมนั้นๆแยกย่อยออกไป Mr.cpd จะมาอัพเดทให้ฟังในโอกาสหน้าครับ ว่าด้วยเรื่องของร่างข้อบังคับที่สำคัญกันต่อ โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจะต้องนำส่งรายงานการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องแบบไม่เป็นทางการตามแบบรายงานที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตควรเก็บหลักฐานการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องแบบไม่เป็นทางการไว้เป็นเวลา 1 ปี

 

       จากที่กล่าวมาทั้งหมดร่างข้อบังคับของการอบรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องของผู้สอบบัญชีที่เปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะมีผลเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งก็คือในปีหน้านั่นเอง ฉะนั้นผู้สอบบัญชีก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะศึกษาช่องทางของการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องให้ชัดเจน และปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 

 

       แต่ที่เห็นจะมีการปรับปรุงไม่ต่างกันคือการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพของผู้ทำบัญชี ซึ่งเดิมนั้นต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง 1 ปี 12 ชั่วโมง แต่จากการคาดการณ์ซึ่งยังไม่แน่นอนนะครับ จำนวนชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องผู้ทำบัญชีจะปรับเพิ่มให้เท่ากันกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตคือ 40 ชั่วโมงครับ ซึ่งถือเป็นการยกระดับทางด้านวิชาชีพบัญชีครั้งใหญ่ทั้งระบบอีก 1 ครั้ง รอติดตามกันต่อไป

 

 

ขอขอบคุณที่มา : บริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด