หลังประเพณีออกพรรษา ช่วงปลายฝนต้นหนาวก็จะเป็นเทศกาลงานบุญทอดกฐิน เป็นประเพณีที่กำหนดให้มีการทอดกฐินเป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังประเพณีออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันที่ 15 ค่ำ เดือน 12 โดยวัดที่สามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย ไม่ต่ำกว่า5 รูป และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ ปีละ1 ครั้ง การทอดกฐินเป็นการนำผ้ากฐินไปวางต่อหน้าพระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูปแล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น หลังจากนั้นก็จะเป็นการทอดผ้าป่าที่ไม่ได้มีข้อกำหนดเคร่งครัดเท่ากับการทอดกฐิน
ดังนั้น ในช่วงนี้ท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายก็จะบอกบุญด้วยการแจกซองกฐินหรือซองผ้าป่า ท่านรู้หรือไม่ การร่วมอนุโมทนาบุญทั้งกฐินและผ้าป่า นอกจากได้สะสมบุญกันตามความเชื่อแล้ว เราสามารถนำบุญนี้ไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ผลบุญที่จับต้องได้คือใบอนุโมทนาบัตร
หากใครมีหน้าที่เสียภาษีและต้องการวางแผนภาษี การร่วมทำบุญในประเพณีทอดกฐินและทอดผ้าป่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดหย่อนภาษีได้ โดยท่านสามารถขอใบอนุโมทนาบัตร จากการร่วมทำบุญกฐินและผ้าป่ามาใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี ซึ่งทางกรมสรรพากรไม่ได้กำหนดเป็นรูปแบบที่แน่นอนแต่ในใบอนุโมทนาบัตรจะต้องมีรายการดังต่อไปนี้
1. ชื่อวัดในพระพุทธศาสนาและวัดดังกล่าวต้องจัดตั้งขึ้นตามพรบ.สงฆ์ พ.ศ.2505 จึงจะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี
2. วัน เดือน ปี ที่ออกใบอนุโมทนาบัตร
3. ชื่อ นามสกุล ผู้บริจาคเงิน
4. จำนวนเงินที่บริจาค
5. เลขที่ของใบอนุโมทนาบัตร
ซึ่งบุคคลธรรมดาทำบุญบริจาคเงินให้วัดมีสิทธินำใบอนุโมทนาบัตร ไปหักลดหย่อนเงินบริจาคในการคำนวณเงินได้สุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินกว่าร้อยละ10 ของเงินได้ที่เหลือหลังจากหักลดหย่อนแล้ว ตามมาตรา47 (1)(2)(3)(4)(5)หรือ(6)แล้ว และต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น หากบริจาคเป็นทรัพย์สิน ผู้บริจาคไม่มีสิทธินำมาลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ตามมาตรา 47(7)(8)แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน มีสิทธิ์นำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ม.65 ตรี(3)
เพียงเท่านี้ท่านผู้มีจิตกุศล ก็จะเริ่มบุญ อิ่มใจ กำไรภาษีด้วย
ขออนุโมทนาบุญด้วยกันเทอญ