“สะบายดี” เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความ AEC บทความแรกที่ผ่านมา. . .นั่นเป็นเพียงบทความที่ปูพื้นฐานให้กับทุกท่านได้เข้าใจที่มาที่ไปอย่างละเอียดเท่านั้น
เอาเถอะครับไงก็ขอให้ใจเย็นกันนิดนะ เพราะลงได้เขียนแบบนี้แล้วคงไม่ได้มีเพียงเท่านี้แน่นอน รับรองได้ว่าผมจะมีบทความที่เป็นเชิงวิพากษ์อีกมากมายที่อยากนำเสนอให้กับทุกท่านได้เรียนรู้ร่วมกัน อย่างไรฝากเนื้อฝากตัวติดตามกันต่อไปนะครับ
ว่าละขอเล่าถึงนักศึกษาสาขาบัญชีซะหน่อยละกัน วันก่อนผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาที่ผมสอน พวกเธอขอคำปรึกษาผมว่า... ทำไม? ในเมื่อเราเป็นนักบัญชีก็น่าจะทำแค่บัญชีก็พอแล้ว และทำไมจะต้องมาเรียนรู้กับเรื่องธุรกิจ เรื่อง AEC พวกนี้ด้วย (นั่นสิ!!!) ผมตอบทันทีเลยครับว่า “การเป็นนักบัญชีมืออาชีพ ใช่เพียงแค่ลงบัญชีได้ถูกต้อง ปิดงบการเงินลงตัว ปฏิบัติงานตามมาตรฐานการบัญชี หรือคิดคำนวณภาษีได้อย่างแม่นยำเท่านั้น (ซึ่งแนวคิดที่จะเรียนรู้เพียงเท่านี้ ต้องบอกเลยว่ามัน Out ไปแล้วครับ) การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทิศทางการค้า การลงทุนที่มีความเปลี่ยนแปลงไป หรือความเคลื่อนไหวของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เป็นสิ่งที่ควรรู้และทำความเข้าใจ เพื่ออะไรหรอครับ? ก็เพราะว่าตราบใดที่ธุรกิจยังคงดำเนินอยู่ การศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มของธุรกิจในปัจจุบัน และอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย” (อย่าลืมว่านักบัญชี ควรคำนึงถึงหลักการดำรงอยู่ของกิจการ Going Concern เป็นหลักการเกณฑ์พื้นฐานตามแม่บทการบัญชีที่ไม่ควรมองข้าม) เห็นไหมครับ นักบัญชียุคใหม่ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ตนเองนอกจากปฏิบัติงานนรอบคอบแล้ว ยังต้องมีความรอบรู้อีกด้วย คิดอย่างผมไหมล่ะครับ?
ย้อนกลับมาดูเรื่อง AEC ที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความที่ผ่านมา ว่าอนาคตข้างหน้าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างไร และที่สำคัญจะมีผลต่อสาขาวิชาชีพบัญชีของเราอย่างไรกันบ้าง ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้เรามาทำความเข้าใจกันแบบง่าย ๆ เข้าใจเร็ว ๆ ก่อนดีกว่า อย่างนี้ครับ ASEAN ได้วางรางฐานเสาหลัก (สำคัญ) ไว้ทั้งหมด 3 เสา ซึ่งAEC เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่ผู้นำแต่และประเทศร่วมกันวางรากฐานไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นจะทำให้ AEC สำเร็จได้จะต้องประกอบด้วยแผนโครงสร้าง 4 ส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โครงสร้างที่กล่าวนั้นถูกวางไว้เป็นแผนงานเชิงบูรณาการ หรือที่เรียกว่า AEC Blueprint
จากการที่ผมได้ศึกษา ค้นคว้า และได้อ่านงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับแผนงานเชิงบูรณาการ ผมขออนุญาตขมวดปมสรุปสาระสำคัญเล่าสู่กันฟังดังนี้นะครับ
แผนบูรณาการตัวที่หนึ่ง การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market and Production Base) แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เกิด “เสรี” ในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีความเสรีในเรื่อง การเคลื่อนย้ายสินค้า, บริการ, การลงทุน, เงินทุน และแรงงานฝีมือ (อั๊ยยะ!! ดูเหมือนกับทุกอย่างจะถูกเคลื่อนที่ไปแบบอิสระเลยว่าไหมครับ) ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์กันในภาพบวกดูนะครับ แผนบูรณาการนี้ ถ้ามองมุมผู้บริโภคเอง รับรองได้ว่าจะมีสินค้านานาชนิด รวมทั้งบริการที่หลากหลายให้จับจ่ายใช้สอยกันได้อย่างเพลิดเพลิน แถมราคาไม่แพงเพราะไม่มีภาษีนำเข้า ความเสรีเหล่านี้จะทำให้ประชาชนใน ASEAN กว่า 600 ล้านคน สามารถมีเลือกหาสินค้าราคาถูก จนเมินสินค้าที่มาจากนอกกลุ่ม ASEAN ไปเลย
การที่ตลาดสินค้า และบริการถูกเมื่อถูกรวมให้เป็นตลาดเดียวกันนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะสามารถช่วยสนับสนุนพัฒนาเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค นอกจากนั้นยังสามารถเสริมสร้างศักยภาพของ ASEAN ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกเลยล่ะครับ สำหรับผู้ประกอบการการสรรหาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกหาปัจจัยการผลิตได้ง่าย แถมต้นทุนต่ำอีกด้วย หรือผู้ประกอบการบางท่าน (ทั้งในกลุ่ม ASEAN และนอกกลุ่ม) ที่เล็งเห็นช่องทางการค้า หรือมีแผนจะขยายกิจการ มีทางเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่ม ASEAN ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบ และนักลงทุนทั้งหลายกำลังศึกษาข้อมูลกันอย่างอุตลุด ไม่เพียงเท่านั้นสิครับ เมื่อทุกอย่างปรับเปลี่ยนไปกระบวนการทางธุรกิจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน เพราะเมื่อทุกอย่างถูกเชื่อมโยงให้จนทำให้ ASEAN กลายเป็นตลาดหนึ่งเดียวกันแล้ว ระบบการขนส่ง คมนาคมไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ก็จะถูกเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเข้าด้วยกัน
คราวนี้กลับมามองนักบัญชีมืออาชีพอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ กันหน่อย ในเมื่อภาคธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจ สิ่งที่จะตามมาคือระบบการทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจก็จะต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมเช่นกัน ยกตัวอย่าง ระบบบัญชี ระบบการควบคุมภายใน ระบบในการบันทึกรายการ หรือแม้แต่การคิด/วิเคราะห์คำนวณต้นทุนต่าง ๆ ก็ต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับการแข็งขันกับคู่ค้าให้ได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ ทักษะการทำงาน และการเข้าใจถึงกระบวนการต่าง ๆ ทางธุรกิจอย่างละเอียดรอบคอบ ดังนั้นนักบัญชีจึงต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน , ระบบการรับรู้รายได้, ต้นทุนการกู้ยืม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่นักบัญชีมืออาชีพต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ แง่มุมของภาษีอากร แน่นอนครับ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนย่อมเลี่ยงไม่ได้ ที่จะมีผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นักบัญชีมืออาชีพจึงไม่ควรมองข้าม
อย่างไรก็ดี นักบัญชีหลายท่านอาจจะเมินหน้าหนี ไม่สนใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2558 อย่างทันทีทันใดก็ได้ แต่ช้าก่อนครับ หยุด!!! คิดให้ดี ๆ นะครับ อย่ามองข้ามแผนบูรณาการนี้ เพราะหลายประเทศเขาพร้อมจะลุยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน นั่นก็หมายความว่า ถ้า“คุณพลาดที่จะไม่รับรู้ เขาก็พร้อมที่จะหาคนที่รู้มาแทนคุณก็ได้” งานนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ละครับ และขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ก็ได้มีการลงนาม “กรอบข้อตกลงยอมรับร่วมในสาขาบัญชีของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement Framework on Accountancy Services)” แล้วครับ ถ้าคุณช้ากว่านี้เพียงหนึ่งก้าวไม่เร่งมือที่จะเรียนรู้ อาจเป็นการพลาดอีกหลายร้อยก้าวของผู้ที่พร้อมกว่าคุณแน่นอน ดังนั้นสะกิดเตือนนักบัญชีมืออาชีพหลาย ๆ ท่านซะหน่อย ได้เวลาละครับตื่นตัวได้แล้ว แต่อย่างตื่นตูม เรื่องไหนที่เรายังไม่มั่นใจ ไม่ชัวร์ เรื่องนั้นแหละครับเป็นจุดอ่อนของเรา ลองมาตั้งเป้าหมายกับตัวเองดูว่า อนาคตเราจะยืน ณ จุดไหนของ ASEAN แล้วพบกันคราวหน้า ผมจะนำสาระดี ๆ มาฝากนะครับ