รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนโดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอันที่ จะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ โดยกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและคนต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ดังกล่าว จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไปจึงขอนำบอกเล่าเก้าสิบแก่ท่านผู้มีอุปการคุณ ดังนี้
“สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” ได้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิคการให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตนไม่ว่าวิสาหกิจในเครือหรือสาขานั้นจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงบริษัทการค้าระหว่างประเทศซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศด้วย “สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป
- มีการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุนหรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
- มีรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
- ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศจากอธิบดีกรมสรรพากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
- ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดในกรณีที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ดังจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติขั้นต่ำของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ไม่มีข้อปฏิบัติที่ยุ่งยากแต่อย่างใดซึ่งผิดไปจาก “สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค” หรือ ROH อันจะช่วยส่งเสริมให้มีการปฏิบัติจริงเป็นอันมากและเป็นความคาดหวังในทางธุรกิจ “สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ” ให้ “บริการสนับสนุน” แก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตนใน 10 เรื่องต่อไปนี้ 1. การบริหารงานทั่วไป การวางแผนทางธุรกิจ และการประสานงานทางธุรกิจ 2. การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วน 3.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4. การสนับสนุนด้านเทคนิค 5.การส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย 6. การบริหารด้านงานบุคคลและการฝึกอบรม 7.การให้คำปรึกษาด้านการเงิน 8. การวิเคราะห์และวิจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน 9.การจัดการ และควบคุมสินเชื่อ และ 10. การให้บริการสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด.“
ที่มา : เดลินิวส์