ภาษีมรดกที่มีการถกเถียงมาช้านานว่ามีความจำเป็นและสมควรที่จะจัดเก็บหรือไม่ ? เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรอประกาศ
เหตุผลในการตรา พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 คือ การถ่ายโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกในปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม การจัดเก็บภาษีจากการรับมรดกที่มีมูลค่า จะทำให้รัฐได้เงินเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ และยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น โดยจะมิให้กระทบถึงการดำรงชีพตามสมควรของผู้ที่ได้รับมรดก ภาษีมรดกจึงไม่ใช่ภาษีที่เป็นการหารายได้แก่รัฐโดยตรงเหมือนภาษีอื่น ๆ
หลายประเทศในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้จัดเก็บภาษีมรดกมาช้านาน
ส่วนประเทศที่ยกเลิกภาษีมรดกแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา (เฉพาะรัฐยูทาห์, รัฐลุยเซียนา, รัฐนิวแฮมเชียร์), แคนาดา, รัสเซีย, สวีเดน, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, อินเดีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์
สำหรับประเทศไทยที่ไม่มีการเก็บภาษีมรดกมาแต่เดิม เพราะประเทศไทยมีแนวความคิดว่า เมื่อเจ้ามรดกได้รับทรัพย์สินมาก็จะต้องเสียภาษีตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อลูกหลานที่เป็นทายาทได้รับมรดกในลักษณะที่เป็นการสืบต่อมา จึงไม่ควรที่จะต้องเสียภาษีอีกครั้ง เพราะมีลักษณะเป็นการซ้ำซ้อนกัน
เนื้อหาสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ มรดกที่ต้องเสียภาษีมี 4 ประเภท คือ (1) อสังหาริมทรัพย์ ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน (2) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ถือราคาของหลักทรัพย์ในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก (3) เงินฝาก หรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ และ (4) ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทย สำหรับทรัพย์สินใดจะถือว่าเป็นทรัพย์สินในประเทศไทย จะกำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี คือ บุคคลและนิติบุคคลสัญชาติไทย บุคคลหรือนิติบุคคลต่างชาติ แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้รับมรดกในประเทศไทย ในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นนิติบุคคลให้ถือว่านิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย หรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทย หรือผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดกหรือผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมดเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ขณะที่การยกเว้นนั้น
ทั้งนี้จะยกเว้นให้แก่ (1) เจ้ามรดกที่เสียชีวิตก่อนกฎหมายใช้บังคับ (2) บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ (3)หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ และองค์กรระหว่างประเทศ
การจัดเก็บภาษี คือ ให้เสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 10 เช่น หากได้รับมรดกเป็นที่ดินมูลค่า 500 ล้านบาท ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีร้อยละ 10 ของจำนวนเงิน 400 ล้านบาท แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีร้อยละ 5 สำหรับมรดกที่เป็นเงินสด ที่ผู้รับมรดกได้รับเกินกว่า 20 ล้านบาท นอกจากต้องเสียภาษีมรดกแล้ว ผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีเงินได้อีกร้อยละ 5
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก และสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 5 ปี โดย 2 ปีแรก ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
การไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาทำให้ต้องเสียเพิ่มถึง 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ และการไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาของกฎหมายจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผู้ที่รับมรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและเสียภาษีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และถ้าไม่ชำระภาษี ก็จะต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่ม
หากผู้รับมรดกไม่มีเงินเพียงพอต่อการชำระภาษี ผู้รับมรดกก็อาจต้องเร่งขายอสังหาริมทรัพย์บางส่วน เพื่อนำมาชำระภาษี ซึ่งอาจไม่ได้ราคาตามที่ต้องการ ถ้าไม่เร่งขาย ค่าภาษี ค่าเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น หากไม่มีใครมาสนใจซื้อก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อชำระค่าภาษี เมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับ อาจทำให้พิจารณาได้ว่า ระยะเวลาผ่อนผันดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่
ในที่สุดผู้ที่รับมรดกอาจจะไม่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติที่มีมูลค่า เช่น บ้าน ที่ดิน ที่มีคุณค่าทางจิตใจที่ตกทอดกันมาจากครอบครัว บรรพบุรุษ เพราะไม่มีเงินสดมากพอที่จะเสียภาษีมรดก จึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อนำเงินมาชำระภาษีมรดก
ความจริงแล้วประเทศไทยเคยจัดเก็บภาษีมรดก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ เมื่อ พ.ศ. 2476 แต่ใช้ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ และให้ประกาศเลิกใช้ในที่สุด ต่อมาได้มีการนำเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีมรดกอีก เมื่อมีการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ. 2504-2509 แต่เมื่อแผนออกมาก็ไม่ได้มีการกำหนดไว้แต่อย่างใด
ขณะนี้บรรดาผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นจำนวนมากที่ไม่ต้องการเสียภาษีมรดกเริ่มถ่ายเททรัพย์สินไปลงทุนในรูปแบบทรัสต์ ที่มีลักษณะคล้ายกองทุนแสวงหาผลประโยชน์ที่จัดตั้งขึ้นเองในต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ลดภาระภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ตามกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้จัดตั้งทรัสต์ได้ เงินทองจึงไหลไปต่างประเทศ แทนที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
บรรดาผู้ที่เงินมากมักจะมีที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำว่า จะต้องทำอย่างไรให้เสียภาษีให้น้อยที่สุดโดยถูกต้อง ซึ่งต่อไปก็จะเป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพื่อคอยติดตามภาษีมรดกนี้ ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปว่า ภาษีมรดกที่เก็บได้จะคุ้มค่ากับงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือไม่
นอกจากนี้ ภาษีมรดกที่จัดเก็บได้ อาจไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะขึ้นอยู่ว่า รัฐบาลจะนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้ทำอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ควรพิจารณามากกว่า
หลายคนมีความเชื่อว่า ภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่จริง ๆ แล้ว ภาษีประเภทต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรให้คุ้มค่ามากกว่า
ในที่สุด คนที่จะเสียภาษีมรดกเต็ม ๆ ก็จะเป็นคนที่มีเงินไม่มาก แต่บังเอิญได้รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินที่นับวันจะมีมูลค่าสูงจนเข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีมรดกตามกฎหมายนั่นเอง.“
ที่มา-รุจิระ บุนนาค (www.dailynews.co.th)