งานนี้มีเฮ!! สรรพากรรื้อรายการลดหย่อนบุคคลธรรมดา

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

ได้ยินข่าวนี้ถึงกับตาโตเลยทีเดียวกับ จะไม่ให้ตื่นตระหนกตกใจได้อย่างไรครับ ตั้งแต่สมัยเรียนร่วม 20 ปี เกณฑ์ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างรายการหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดาตามมาตรา40(1)และ(2) ที่อนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท กำลังจะถูกสรรพากรปรับเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผย ว่าจะมีการปรับจำนวนการหักค่าใช้จ่ายเป็น 1.2 แสนบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะอย่าลืมครับว่าภาษีทุกบาทที่ท่านเสียคือรายได้ของรัฐที่จะใช้ในการบริหารจัดการประเทศ เพราะจากแหล่งข่าวท่านอธิบดีก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ขณะนี้กรมฯ กำลังประเมินว่าแต่ละแนวทางจะทำให้กรมสูญเสียรายได้เท่าใดประเมินเบื้องต้นน่าจะกระทบไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าน" นอกจากนั้นท่านอธิบดีก็ได้มีการพิจารณารายการลดหย่อนต่างๆ กว่า 20 รายการ อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ค่าเลี้ยงดูบุตร เลี้ยงดูบิดามารดา ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ค่าประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดอกเบี้ยบ้าน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ค่าบริจาคต่างๆ

จากแหล่งข่าวมีการให้ข้อมูลถึงรายการลดหย่อนที่มีหยิบยกมาพิจารณา ก็คือการลดหย่อนสำหรับบุตร ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงอาจจะเคยได้ยินข่าว"สังคมผู้สูงอายุ" หรืออาจได้ยินข่าวว่าหลายประเทศกำลังประสบปัญหาจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเกิดกลับลดลง จนทำให้หลายประเทศพยายามส่งเสริมให้มีบุตร ประเทศไทยก็เช่นกันครับซึ่งในการปรับแผนเรื่องการหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนของกรมสรรพากร ก็มีการนำมาตรการการลดหย่อนบุตรมาเป็นแคมเปญกระตุ้นโดย จากเดิมมีการจำกัดจำนวนบุตรที่จะหักลดหย่อน ซึ่งหากบุตรที่กำลังศึกษาอยู่นั้นสามารถหักลดหย่อนได้ 17,000 บาท ต่อปี และหากไม่ศึกษาหักลดหย่อนได้ 15,000 บาทต่อปี โดยขณะนี้ท่านอธิบดีได้พิจารณาเพิ่มจำนวนการหักลดหย่อน "สำหรับบุตรที่ไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น  ต่อไปจะไม่จำกัดจำนวนบุตร และอาจจะเพิ่มวงเงินลดหย่อนให้เป็น 30,000 บาทต่อคน  เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีลูกมากขึ้น เพราะขณะนี้ไทยกำลังก้าวสู่สังคมคนชรา" ฟังดูอาจแปลกใจกับแคมเปญนี้ แต่การส่งเสริมให้คนมีบุตรนั้นมีการใช้ในหลายประเทศอย่างเช่นญี่ปุ่นก็ได้นำมาตรการนี้มาส่งเสริมโดยแจกเงินสนับสนุน 1 ล้านเยน หรือประมาณ 268,400 บาท ให้กับครอบครัวที่มีบุตรคนที่4 อีกด้วย

 

ตามประเด็นการลดหย่อนเพื่อเป็นการส่งเสริมการมีบุตรที่กล่าวมาข้างต้นนั้น หลายท่านคงสงสัยว่าภาครัฐห่วงใยแต่จะเพิ่มประชากร แล้วผู้สูงอายุละใครจะดูแล เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลครับเพราะขณะนี้มีการพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายอนุสันต์ เทียนทอง ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นกรมใหม่ป้ายแดงที่จะมาดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น (ยินดีกับท่านด้วยครับ)

 

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้วยังมีการหักลดหย่อนบางรายการที่ยังไม่มีการตัดสินใจต่อว่าจะมีการยืดเวลาการให้สิทธิหรือไม่ เช่นการลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว LTF ที่จะมีการกำหนดให้ลดหย่อนได้ถึงปี 2559 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจที่จะต่ออายุ อาจเป็นเพราะยังมีเวลาพอที่จะพิจารณาถึงผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ถึงไม่มีการให้สิทธิลดหย่อนกับ LTF ผู้เสียภาษีก็สามารใช้สิทธิในการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอย่าง RMF แทนก็ได้ 

 

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับกองทุน 2 รายการนี้ สามารถนำมาลดหย่อนได้รายการละ 15% ของรายได้พึงประเมิน และไม่เกินรายการละ 5 แสนบาท หรือรวมกัน 2 รายการสามารถใช้สิทธิ์ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งหากเหลือรายการเดียว หรือให้สิทธิทั้ง 2 รายการเหมือนก็ต้องติดตามกันครับว่าจะมีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ นอกจากสิทธิในการลดหย่อนก็ยังมีสิทธิในเรื่องอายุการถืออีก เรื่องพวกนี้คงต้องติดตามตอนต่อไปแล้วละครับ