"ภาษีมรดก" บังคับใช้ ม.ค.59 ให้เวลาโอนทรัพย์แก่ทายาท-ยกเลิกให้โดยเสน่หา

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ว่าด้วยภาษีการรับให้ ในกรณีที่โอนทรัพย์สมบัติก่อนผู้ให้เสียชีวิต ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ววันที่ (5 ส.ค.58) โดย พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันหรือ 6 เดือนข้างหน้า นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเวลาพอที่จะให้หน่วยงานต่างๆเตรียมการให้พร้อมสำหรับการออกแบบฟอร์ม วิธีการเสียภาษี รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน

 

          ทั้งนี้ ภาษีการรับมรดกกำหนดให้ผู้รับต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาทในอัตรา 10% แต่ถ้าเป็นการรับมรดกจากบุพการี หรือผู้สืบ สันดาน จะเสียในอัตรา 5% จากส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท ส่วน พ.ร.บ.ภาษีการรับให้ ซึ่งจะนำมาใช้แทนการให้ หรือโอนทรัพย์ให้โดยเสน่หา กล่าวคือการให้โดยเสน่หาที่ไม่เคยเสียภาษีจะไม่มีอีกต่อไป หากมีการโอนทรัพย์สมบัติให้ก่อนผู้ให้จะเสียชีวิตนั้น ต่อไปจะเข้าข่ายเป็นภาษีการรับให้ ซึ่งกำหนดภาระภาษีไว้ว่า ถ้าเป็นการรับจากบุพการี ผู้รับต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท ในอัตรา 5% นอกเหนือจากกรณีบุพการีให้ผู้สืบสันดาน ต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทในอัตรา 5%

 

 

          ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า กรมสรรพากรกำลังเตรียมออกกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวจำนวน 21 ฉบับ มีทั้งประกาศกรม ประกาศกระทรวง และพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการยื่นภาษี แบบแสดงรายการภาษี รวมถึงการตั้งทีมขึ้นมาดูแลภาษีมรดกเป็นการเฉพาะ เพราะในการเสียภาษีนั้นจะสามารถยื่นแบบได้ทั่วประเทศ รวมถึงการยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ตได้ด้วย แล้วส่งมาให้สรรพากรส่วนกลางในการประเมินภาษี

 

          เนื่องจากกรมมองว่าคนมีมรดกนั้นน่าจะมีทรัพย์สินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ทีมสรรพากรส่วนกลางพิจารณาเรื่องนี้ เพราะต้องประเมินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมกันจึงจะทราบถึงภาระภาษีที่ชัดเจน และการใช้ทีมส่วนกลางในการพิจารณาทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

          สำหรับผู้รับมรดกจะต้องยื่นสำแดงภาษีภายใน 150 วันหลังจากที่รับมรดก ส่วนทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมี 5 ประเภทด้วยกันได้แก่ 1.บ้าน และที่ดิน 2.เงินฝากธนาคาร 3.หุ้นและหุ้นกู้ 4.รถยนต์ และ 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งข้อนี้เป็นการเปิดโอกาสจัดเก็บภาษีจากทรัพย์อื่นๆ เพราะยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะมีทรัพย์สินหรือธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

 

          “ในการเสียภาษีนั้นจะประเมินทรัพย์ทุกประเภท และมูลค่าที่ได้รับรวมกัน แม้จะรับไม่พร้อมกัน ก็ต้องถูกนำมาประเมินรวมกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน หุ้น เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน รถยนต์ ตราสารการเงินอื่นๆ ซึ่งถ้าไม่เกิน 100 ล้านบาทก็ไม่ต้องเสียภาษี โดยในการประเมินหากเป็นที่ดินจะอ้างอิงราคาจากกรมที่ดิน หากเป็นหุ้นคิดในราคาตลาด ณ วันที่ ได้รับหุ้นมา เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่”

 

          นายประสงค์กล่าวด้วยว่า การนำภาษีตรงนี้มาใช้ จริงๆก็เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ สรรพากรไม่ได้คาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด เม็ดเงินภาษีที่ได้ตรงนี้คิดว่าไม่มาก อาจจะเพียงปีละประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทเท่านั้น ถ้าจะมากจะน้อยกว่านี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐีเสียชีวิตในช่วงปีนั้นๆกี่คน กระนั้นก็ตาม รัฐคาดหวังให้เศรษฐีและผู้มีมากเป็นพลเมืองดีที่ยินดีเสียภาษีให้แก่รัฐโดยความสมัครใจบ้าง เช่น มีสัก 10,000 ล้านบาท จะเสียภาษีให้รัฐสัก 500 ล้านบาท ก็ยังเหลืออีกตั้ง 9,500 ล้านบาท ใช้อย่างไรก็ไม่หมด

 

          สำหรับกฎหมายลูกที่จะต้องดำเนินการให้ทันใน 180 วันก่อน พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมีผลบังคับใช้ได้แก่ พ.ร.ฎ.กำหนดเปลี่ยนแปลงมูลค่ามรดก, ทรัพย์สินทางการเงินที่ต้องเสียภาษี, หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษี กฎกระทรวง เช่น กำหนดบุคคลที่ได้รับการยกเว้นภาษีการรับมรดก หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตาม, กำหนดทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย, ค่ารอนสิทธิ กรณีอสังหาริมทรัพย์, หลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินกรณีอื่น, กำหนดเวลา ที่กรมที่ดินต้องแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก, กำหนดแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก และกำหนดวิธีการอายัดทรัพย์สินเพื่อนำมาชำระภาษีอากรค้าง เป็นต้น.

 

ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์ , พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 , พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558