วันนี้มานั่งอ่านข่าว พบข่าวนี้ถึงกับตกใจเบา ๆ แต่ก็แอบดีใจกับนิติบุคคลด้วยครับ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิม 30% เหลือ 20% ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นการถาวร ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.59 เป็นต้นไป
เพื่อเป็นการคลายความกังวลให้ภาคธุรกิจเรื่องความไม่แน่นอนทางด้านภาษี ประกอบกับมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) โดยมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นภาษีสำหรับเงินปันผลที่ได้รับเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ส่งเสริมให้เกิดกิจการ Venture Capital และส่งเสริมให้บรรดานักคิด นักลงทุนทั้งหลายมีธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไข คือผู้ที่จะได้รับสิทธิจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย
ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนอกจากนั้นยังต้องเป็นกิจการที่เป็นเป้าหมาย (ซึ่งประกอบไปด้วย 10 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร, อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น)
ประเทศ | อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล |
กัมพูชา | 20% |
เวียดนาม | 25% |
ลาว | 28% |
บรูไน | 21% |
เมียนมาร์ | 30% |
อินโดนีเซีย | 25% |
มาเลเซีย | 25% |
ฟิลิปปินส์ | 30% |
สิงคโปร์ | 17% |
ไทย | 20%*อัตราใหม่* |
คราวนี้ เมื่อมีความชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยมาตรการภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะทำให้ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน อาจมองเป็นประเทศไปประเทศแรก ๆ ที่จะตัดสินใจมาลงทุน ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้การติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ผมก็พยายามสืบค้นเพื่อนำมาฝากอย่างแน่นอน “เพราะประเทศไทยกำลังเดินทาง ท่านก็ไม่ควรพลาดการเคลื่อนไหว” สำหรับครั้งนี้คงต้องลากไปก่อนแล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ |
- ผู้เขียน - |