ปฏิรูปภาษี...การบ้าน "สมคิด" เอกชนชงรื้อใหญ่ "ประมวลรัษฎากร"

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

ก่อนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะสิ้นสุดวาระลง หลังมีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อ 6 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา สปช.ได้รวบรวมข้อเสนอด้านการ "ปฏิรูปภาษี" ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการ และ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี มีนโยบายจะนำข้อเสนอเหล่านั้นมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ

 

สัปดาห์ก่อน"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี สั่งการบ้านกระทรวงการคลังให้เดินหน้าภารกิจปฏิรูป 6 ด้าน หนึ่งในนั้นคือการ "ปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากร" โดยให้โจทย์ว่า การปฏิรูปต้องยืนอยู่บนหลักการว่า ไม่เป็นการ "รีดภาษี" เพิ่ม ไม่เบียดเบียนคนจนและผู้ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว แต่เพื่อขยายฐานรายได้และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ กุนซือใหญ่ด้านเศรษฐกิจกำหนดจะทวงความคืบหน้าอีกครั้งหลังครบ 1 เดือนนับจากนี้

 

แนะตั้งคณะทำงานปฏิรูปรัษฎากร

 

ในการนี้ "ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์" ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีและกฎระเบียบ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก สปช. และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันปฏิรูปภาษี ทั้งยังเคยนั่งเป็นกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังยุค "สมหมาย ภาษี" เป็น รมว.คลัง ได้มีข้อเสนอถึงรองนายกฯ "สมคิด" และ "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลังว่า ควรตั้งคณะทำงานปฏิรูปภาษีทำหน้าที่แบบ "เต็มเวลา"

 

และภารกิจที่สำคัญ คือ การยกร่างประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร พร้อมเปิดโอกาสให้สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และภาควิชาการมีส่วนร่วม หากไม่เปิดให้เอกชนเสนอแนะ อาจเหมือนกรณีปรับปรุงภาษีคณะบุคคล และการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการจำนองจำนำที่ต้องแก้ไขซ้ำ

 

"วันนี้การปฏิรูปภาษีที่สำคัญ คือ ภาษีทรัพย์สินกับภาษีสรรพากร เพราะภาษีสรรพสามิตกับภาษีศุลกากรทำไปแล้ว ในส่วนภาษีทรัพย์สิน ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมอยากจะให้ช่วง 12 เดือนจากนี้ไป มีการตั้งคณะทำงานยกร่างประมวลรัษฎากร ทำงานเต็มเวลา 6-7 เดือน ก่อนเสนอ ครม.แล้วเข้ากฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกฯมีเวลา 20 เดือน แต่คิดว่าเรื่องนี้ทำจริง ๆ 12 เดือนน่าจะทันตามแผนที่เคยเสนอกัน ถ้าล่าช้าก็ไม่ควรเกิน 15 เดือน"

 

ม.44 ทางเลือกสุดท้ายรื้อโครงสร้างภาษี

 

หากการเสนอกฎหมายปฏิรูปภาษีต้องล่าช้าออกไปเกิน 15 เดือน "ศ.พิเศษกิติพงศ์" เห็นว่าอาจต้องใช้ทางเลือกสุดท้าย คือ มาตรา 44 ดำเนินการ เพราะการปฏิรูปภาษีหากไม่ทำในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ก็จะทำไม่ได้เลยหลังจากมีการเลือกตั้ง

 

ชูข้อเสนอ สปช.ปฏิรูปภาษีรอบด้าน

 

ข้อเสนอของ สปช.ที่ ครม.รับหลักการไปตั้งแต่เดือน ก.ย. 2558 นั้น ครอบคลุมตั้งแต่การให้ขึ้นทะเบียนผู้มีเงินได้ทุกคน การเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่าง ๆ การนำระบบสมาร์ทการ์ดมาใช้กับการชำระภาษี การทำระบบ e-Tax Receive และ e-Tax Invoice เหมือนกับที่ปัจจุบันรัฐบาลกำลังพูดถึงการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อยู่ โดย สปช.เสนอถึงขั้นให้ขึ้นทะเบียนด้วยหมายเลขเดียว ใช้บัตรเดียวหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ชำระภาษีทุกประเภท เหมือนกับ "แรบบิทการ์ด" ใช้จ่ายค่าโดยสารรถสาธารณะต่าง ๆ

 

"การคืนภาษีถ้ามีระบบ e-Tax Receive จะคืนได้เร็วขึ้นมาก ระบบจะโปร่งใส ลดการใช้ดุลพินิจลง"

 

นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์กลาง จากทุกกฎหมายภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพากร สรรพสามิต หรือศุลกากร ปัจจุบันรัฐบาลรับลูกแล้ว

 

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อยู่ที่ 20% ถือว่าเหมาะสม แต่ประเทศไทยยังมีภาษีเงินปันผลอีก ทำให้มี "เอฟเฟ็กทีฟเรต" อยู่ที่ 28% ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดยังอยู่ที่ 35% หากจะทำให้ "เป็นธรรม" ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ควรเกิน 28%

 

"วันนี้คนมีเงินก็ตั้งบริษัทอย่างเดียว บริษัทมีรายได้ 30 ล้านบาทเสียภาษีถูกกว่าเสียภาษีแบบคนธรรมดา แถมยังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนได้มากกว่าอีก ช่องว่างตรงนี้ต้องปิด"

 

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่สุดแล้วก็คงต้องปรับขึ้น เพียงแต่อาจใช้วิธีทยอยปรับไม่ให้กระทบประชาชนจำนวนมาก

 

ขณะที่มาตรการภาษีสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ผ่านมาทำไม่ตรงจุด มุ่งยกเว้นให้แต่รายใหม่ ไม่กล่าวถึงรายเก่าที่อาจมีปัญหา เอกชนเสนอให้ "นิรโทษกรรม" แต่ตนมองว่าหากนิรโทษกรรมโดยไม่ปรับโครงสร้างก็ไม่มีประโยชน์ จะ "เสียของ" เพราะเป็นช่องทางให้ทุจริตได้

 

ผลักดันพิมพ์เขียวภาษีตลาดทุน

 

"ศ.พิเศษกิติพงศ์" กล่าวว่า ในระยะเวลาที่จำกัดควรนำโมเดลภาษีจากสิงคโปร์ ตลอดจนผลศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ "ไอเอ็มเอฟ" และธนาคารโลกมาปรับใช้ อย่างกรณีภาษีตลาดทุน ตนได้ศึกษาและเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว พร้อมเสนอเป็นวาระเข้าสู่ ครม.ได้ทันที อาทิ มาตรการภาษีการควบรวมกิจการ (M&A) ที่เสนอขอยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล และอากรแสตมป์ที่เกิดจากการโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นของอีกบริษัท (Share Swap)

 

รวมถึงเสนอให้นำผลขาดทุนสะสมของบริษัทเดิมไปทยอยหักค่าใช้จ่ายของกิจการใหม่ที่เกิดจากการควบรวมได้และยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทผู้โอนหุ้น กรณีปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท เสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรจากการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศกำหนด ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 31 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

 

"ตลาดทุนก็เสนอเรื่อง M&A ให้ทำได้ง่ายขึ้นเพราะถ้าไม่ปรับโครงสร้าง บริษัทไทยขนาดใหญ่จะย้ายไปอยู่สิงคโปร์หมด เก็บภาษีไม่ได้ จริง ๆ แล้วคนไทยไม่อยากไปอยู่ต่างประเทศ หากอัตราภาษีเหมาะสม อย่างกรณี Share Swap เราเสนอให้ไม่เก็บกรณีขาดทุนสะสม ต้องตั้งเป็นประเด็นไว้ จะให้หรือไม่อีกเรื่อง การต่ออายุมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เราขอเป็นการถาวร ไม่ใช่ให้เป็นงวด ๆ เพราะต้องปรับโครงสร้างตลอด ทั้งหมดนี้เสนอคลังไปแล้ว แนวโน้มรัฐน่าจะยอมรับ"

 

"ศ.พิเศษกิติพงศ์" กล่าวอีกว่า ถ้าจะให้ดีในการปรับโครงสร้างภาษีควรจะมีการลดภาษีเงินปันผลด้วย เพราะหลายประเทศไม่ว่าจะฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ไม่มีการเก็บภาษีตัวนี้กันแล้ว ซึ่งยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยากที่รัฐจะยอมเสียรายได้ปีละกว่า 20,000 ล้านบาทจากภาษีตัวนี้ แต่เสนอให้ทยอยลดก็ได้

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้เก็บ "ทรานแซ็กชั่นแทกซ์" จากธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ เพราะทราบดีว่า "แคปิตอลเกนแทกซ์" เก็บไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเก็บคนจะหนีไปต่างประเทศ ไปสิงคโปร์ทันที

 

ภารกิจรัฐบาลดันภาษีที่ดิน

 

ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาษีทรัพย์สิน "ศ.พิเศษกิติพงศ์" เชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องผลักดันในรัฐบาลนี้ ไม่เช่นนั้นก็อย่าหวังว่าจะผ่านในรัฐบาลเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น เพื่อปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสม

 

ที่มา-ประชาชาติธุรกิจ