รากหญ้าเตรียมเฮ รบ.จ่อเคาะลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 1.2 แสน พร้อมจูงใจคนรุ่นใหม่ปั๊มทายาทเพิ่ม

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

        

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการปรับโครงสร้างภาษี กรมสรรพากรดำเนินการศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วหลายรูป และมี 3-4 แนวทางที่จะเพื่อเสนอให้รัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา โดยการศึกษาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งค่าลดหย่อนต่างๆ ค่าใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งอาจพิจารณาทั้งแบบเหมาจ่าย 6 หมื่นบาทต่อปี เพิ่มเป็น 1.2 แสนบาท ทั้งแบบเหมาจ่าย และนำใบเสร็จจากร้านขายสินค้ามาแสดงในการยื่นแบบเสียภาษี เนื่องจากที่ผ่านมา กำหนดให้นำค่าใช้จ่าย 6 หมื่นบาทต่อปี หรือประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งใช้มาหลายปีแล้ว จึงต้องการปรับให้สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

       

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีบุตร เนื่องจากปัจจุบันพบว่า คนรุ่นใหม่มีบุตรน้อยลง เนื่องจากภาระทางครอบครัว ดังนั้น จึงมีแนวคิดว่าหากมีบุตรมากกว่า 3 คน สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อให้ช่วยให้จำนวนประชากรของประเทศไทยไม่ลดลงจาก 70 ล้านคน นโยบายดังกล่าวรัฐบาลจะพิจาณาภายในปี 59 เพื่อนำออกมาบังคับใช้สำหรับปีภาษี 2560 และยืนยันว่า การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมจะเป็นการลดภาระภาษีของประชาชนให้น้อยลงกว่าเดิม

       

สำหรับในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ลดเหลือร้อยละ 20 แบบถาวรไปแล้ว โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี ลดเหลือร้อยละ 10 ทำให้รายได้รัฐหายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จึงต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีแบบเล่มเดียว ด้วยการดึงพันธมิตรจากสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมเป็นพี่เลี้ยง เพื่อดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบบัญชีเล่มเดียว เมื่อเอกชนรับนักศึกษาเข้าร่วมทำบัญชีก็สามารถนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า

       

ส่วนแผนดำเนินงานในปี 2559 กรมสรรพากรจะเน้นดำเนินการตามนโยบาย E-Payment เพื่อดึงภาคเอกชนเข้าสู่ระบบภาษี ด้วยการให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบดังกล่าวประเทศสวีเดนนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยป้องกันปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมาก

       

ขณะนี้ กรมสรรพากรเตรียมระบบรองรับไว้พร้อมแล้ว และระบบยังช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้เสียภาษี โดยคอยประเมินว่าผู้ใดอยู่ขอบข่ายต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ระบบจะแจ้งให้ทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาไปดูแลภาษีในด้านอื่น และยังช่วยลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และเพื่อไม่ให้เกิดการพบกันกับเจ้าหน้าที่โดยตรง ช่วยลดปัญหาทุจริตได้อีกทางหนึ่ง

       

ทั้งนี้ กรมสรรพากรเชื่อว่า เมื่อผู้ประกอบการทุกภาคส่วนเข้าสู่ระบบภาษีแล้ว ฐานภาษีจะขยายมากขึ้น ช่วยให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีทางเงินได้นิติบุคคลได้มากขึ้นในทางอ้อมถึง 80,000-100,000 ล้านบาท

       

อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ ครม.เห็นชอบการเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเร่งรัดให้ขยายการลงทุน และลงทุนใหม่เพิ่มเติมภายในปี 2559 นี้ กรมสรรพากรจะมีมาตรการด้านภาษีที่เป็นการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดังกล่าวแล้ว

       

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถจากต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เหลือประมาณร้อยละ 15 และให้นำค่าใช้จ่ายที่กำหนดนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า เพื่อต้องการสนับสนุนเอกชนขยายการลงทุนในช่วงนี้ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะหากไปตัดสินใจลงทุนในอนาคตจะไม่ทันการณ์ 

 

 

ที่มา : ผู้จัดการ Online