วันที่ 14 มกราคม 2559 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ภาษีผู้รับมรดก พ.ศ. 2558 ได้มีผลบังคับมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 แต่กฎหมายให้เวลา 180 วัน ถึงเริ่มเก็บจริง โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้รับมรดกที่รับส่วนเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนับจากวันที่รับมรดก 150 วัน หากผู้รับเป็นผู้สืบสันดานเสีย 5% และผู้รับเป็นบุคคลภายนอกเสีย 10%
สำหรับทรัพย์สินที่นำมาคิดการเสียภาษีรับมรดกมี 4 ประเภท ประกอบด้วย
- อสังหาริมทรัพย์ (ใช้ราคาตลาดวันที่ผู้รับมรดกรับโอนทรัพย์สิน)
- หลักทรัพย์ (ใช้ราคาตลาดวันที่ผู้รับมรดกรับโอนทรัพย์สิน)
- เงินฝาก
- ยานพาหนะ ที่จดทะเบียนในประเทศไทย
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกนั้น เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งกรณีที่ต้องเสียภาษีนั้น ให้นับจากวันที่รับมรดก 150 วัน สามารถเลือกการผ่อนชำระภาษีได้
โดยจะต้องยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี พร้อมกำหนดจำนวนปี จำนวนงวด และจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวด ซึ่งผู้ขอผ่อนชำระจะต้องจัดหาหลักประกันที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ผ่อนชำระภายใน 2 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่หากเกิน 2 ปีต้องเสียเงินเพิ่ม 0.5% ต่อเดือน โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่การขอผ่อนชำระมีผลบังคับ สำหรับกรณีผิดนัดไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระภาษีและต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่พร้อมกับเงินเพิ่ม
สำหรับบุคคลที่ได้รับยกเว้นมรดก ได้แก่ บุคคลที่ประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลัง สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
พร้อมกันนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด ยังมีมติเห็นชอบให้กรมสรรพากรออกกฎหมายระดับรองเป็นพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ และกฎกระทรวง 6 ฉบับ กำหนดการเก็บภาษีมรดกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มา-กรุงเทพธุรกิจ