บัญชีเดียว...การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีประเทศครั้งใหญ่!

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

ถ้าใช้ดัชนีชี้วัดจากจำนวนประชากรที่เสียภาษี เราจะพบว่า แม้จะมีประชากรไทยในวัยทำงานอยู่ราว 30-40 ล้านคน แต่เอาเข้าจริง กลับมีคนที่เสียภาษีให้รัฐจริงๆเพียง 10 กว่าล้านคน

 

นั่นหมายความว่า มีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่อุ้มคนกว่า 60-70 ล้านคนทั่วประเทศให้อยู่ได้ภายใต้สวัสดิการต่างๆและความสะดวกสบายที่รัฐหยิบยื่นให้

 

ขณะที่ผู้ประกอบการบริษัทนิติบุคคลทั่วประเทศประมาณ 450,000 ราย มีอยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่เสียภาษีให้แก่รัฐครบถ้วน และบริษัทนิติบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ยังมีอีกจำนวนมากที่เสียภาษีแก่รัฐไม่ครบถ้วนภายใต้การใช้ระบบการทำบัญชีแบบเก่าการทำบัญชีแบบปกปิดรายได้จริง-แจ้งการขาดทุน ทำบัญชี 2 หรือบัญชี 3 เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี เป็นต้น

 

เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลังซึ่งกำกับดูแลนโยบายด้านการคลัง โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายที่รัฐต้องใช้จ่ายออกไปในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก เห็นควรจะต้องปฏิรูปประเทศไทยกันใหม่ในทุกด้าน และด้านการเงินการคลังก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องรื้อรากเหง้าเก่าๆทิ้งให้หมด เพื่อสร้างมาตรฐานการทำบัญชีเพื่อการเสียภาษีที่ชัดเจน ภายใต้มาตรฐานที่เรียกว่า “บัญชีชุดเดียว”

 

ระบบบัญชีชุดเดียว หรือ One Account นี้ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์กับ ทีมเศรษฐกิจ ว่า นี่เป็นงานสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอกย้ำว่า จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยความร่วมมือกันของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

แน่นอนว่าไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา...เมื่อผู้คนต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ที่ต้องสุจริต ถูกต้อง ตรงไปตรงมา ทุกกระบวนการย่อมต้องถูกจับเข้ากรอบ และมีมาตรฐานเดียวกันหมด

 

ระบบภาษี อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

 

“ในอดีตที่ผ่านมา มีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนบริษัท ห้างหุ้นนิติบุคคลจำนวนมากที่เสียภาษีเอาไว้ไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุผลหลายๆประการ เช่น 1.กลัวเสียเงิน 2.กลัวความยุ่งยาก โดยได้ว่าจ้างสำนักงานบัญชีลงบัญชีแทน และ 3.การขาดความรู้และความเข้าใจในการลงบัญชีอย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดความผิดพลาดทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา”

 

ตัวอย่างเช่น เมื่อ 20 ปีก่อนซื้อที่ดินมาหนึ่งแปลงเพื่อนำมาก่อสร้างโรงงาน โดยคิดว่าเป็นธุรกิจของตนเอง ต่อมาธุรกิจมีการเติบโตและขยายกิจการใหญ่มากขึ้น จึงมีความต้องการกู้เงินกับธนาคารก็พบว่าสินทรัพย์ของบริษัทแท้ที่จริงแล้วมีเพียงแค่โรงงานและเครื่องจักรเท่านั้น

 

ปัญหาที่ตามมาคือ ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพราะไม่มีหลักทรัพย์ที่ดีพอในการค้ำประกัน จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องโอนที่ดินแปลงนั้นมาเป็นของบริษัท แต่ก็ทำไม่ได้อีก เพราะอยู่ดีๆบริษัทจะมีที่ดินเพิ่มขึ้นก็ต้องเสียภาษีซื้อ–ขายและภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้แก่กรมสรรพากร ทำให้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง

 

“แต่ปัจจุบันอัตราภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บบริษัทนิติบุคคลได้ปรับลดลงมาแล้ว จากเดิมอยู่ที่เคยเก็บในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ ก็ปรับลดลงมาเหลือ 25% และ 20% เมื่อปี 2557 และยังมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายและลดหย่อนต่างๆอีกมากมาย จึงทำให้อัตราภาษีในปัจจุบันไม่ได้เป็นภาระที่หนักอึ้งของผู้ประกอบการอีกต่อไป”

 

กรมสรรพากรจึงเสนอรัฐบาลออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตคือ 1.พระราชกำหนด การยกเว้นภาษีและสนับสนุนการปฏิบัติ การเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และ 2.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2559 ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของกรมสรรพากรที่จะเปิดทางให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถปรับปรุงบัญชี และงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพของธุรกิจที่แท้จริงมากยิ่งขึ้น

 

สรรพากรยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี

 

วัตถุประสงค์ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ดี แต่อาจจะเคยผิดพลาดทางด้านการลงบัญชีในอดีต ไม่ต้องกังวล หรือกลัวว่าความผิดที่เกิดขึ้นในอดีตจะมาหลอกหลอนจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี สมัครเข้ามาร่วมโครงการ “บัญชีชุดเดียว” ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครอยู่ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 15 ม.ค. จนถึงวันที่ 15 มี.ค.2559

 

กรมจะพยายามชี้ให้ผู้ประกอบการเห็นข้อดี-ข้อเสียของการเข้าร่วมโครงการนี้ โดยเฉพาะข้อดีที่กรมสรรพากรหยิบยื่นให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครั้งนี้ “ผมถือว่าเป็นการปลดล็อกปัญหาในอดีตทั้งหมด คือ 1.การไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 2.ไม่ต้องทำบัญชีใหม่ย้อนหลังไป 10-20 ปีเพียงแค่ทำรายงานทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นลงในกำไรสะสมของปีภาษี 2558 ที่ต้องยื่นภาษีในเดือน พ.ค.2559 นี้”

 

และ 3.กรณีผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่ถึง 30 ล้านบาทถือว่าเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวจริงก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และในปีภาษี 2560 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท

 

 

ส่วนกำไรสุทธิที่เกินกว่า 300,000 บาท จะเสียภาษีในอัตรา 10% ซึ่งเป็นอัตราภาษีลดลงจากปัจจุบัน ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการเอสเอ็มเอ็ม กรณีรายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ไม่เสียภาษี รายได้เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และเกินกว่า 3 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 20% ซึ่งเป็นอัตราภาษีในระดับเดียวกับบริษัทนิติบุคคลทั่วไป

 

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ประมาณ 430,000 รายทั่วประเทศ โดยเราได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการนี้ จะมีประมาณ 300,000 ราย ซึ่งยอดล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.พ.59 มียอดสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 143,000 ราย เท่ากับว่าเราได้เดินถึงครึ่งทางของเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว”

 

ยืนกรานไม่นิรโทษกรรมคนโกง

 

ข้อเสียของโครงการนี้ อันดับแรกเลยคือ กรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท แต่ก็ยินดีเพื่อแลกกับความเข้มแข็งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอนาคต เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เนื่องจากผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วนสูงถึง 98% ของจำนวนบริษัทนิติบุคคลประมาณ 450,000 ราย

 

หากพิจารณาเฉพาะผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี มีสูงถึง 430,000 รายนั้น ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยเหล่านี้ เติบโตขึ้นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 2,000–3,000 บริษัทได้ จากปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่มีเพียง 50 รายเท่านั้น

 

ข้อเสียที่ 2 คือ หากไม่เข้าร่วมโครงการ เมื่อตรวจสอบในภายหลังพบว่า มีการลงบัญชีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะถูกเก็บภาษีย้อนหลัง 3.ระเบียบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2562 กำหนดให้ใช้เอกสารและหลักฐานการเสียภาษีที่ยื่นต่อกรมสรรพากรมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อและธุรกรรมทางการเงิน

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีการนำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment มาใช้อนาคตอีกด้วย ก็ยิ่งจะทำให้ข้อมูลการใช้จ่ายเงินของบุคคลและบริษัทนิติบุคคลสามารถเชื่อมโยงถึงกรมสรรพากรได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้การตรวจสอบภาษีทำได้ง่ายขึ้นและ 4.คือ กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี เพราะคนที่มีความผิดทางภาษีเช่น การโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) การใช้ใบกำกับปลอมที่อยู่ระหว่างการออกหมายเรียก หรือที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลก็ยังอยู่ต่อไปจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด

 

“สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ คือการสร้างเกาะคุ้มกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เคยลงบัญชีผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วนในอดีต ไม่ให้ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากรอีกต่อไป เพื่อให้ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นที่ดี และยังสามารถก้าวเดินไปได้พร้อมๆกัน โดยเราจะเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่ปีภาษี 2558 เป็นต้นไป”

 

ขยายฐานรายได้ลดภาษีแวต

 

เป้าหมายสูงสุดของกรมสรรพากรในโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ที่ผลทางด้านการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการขยายฐานภาษีให้มีความกว้างและลึกมากขึ้น นั่นก็คือให้มีจำนวนผู้เสียภาษีที่มีปริมาณมากขึ้น จากปัจจุบันประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน 30-40 ล้านคนแต่เสียภาษีให้แก่กรมสรรพากรเพียง 10 กว่าล้านคน หมายความว่าเรามีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ต้องอุ้มคนอีกกว่า 50-60 ล้านคนทั่วประเทศ จึงทำให้ภาระภาษีที่เกิดขึ้นในขณะนี้กระจุกตัวอยู่กับคนเพียงไม่กี่คน เพราะการขยายฐานภาษีให้กว้างออกไปยังไม่ทั่วถึงประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ

 

ขณะที่ผู้ประกอบการบริษัทนิติบุคคลทั่วประเทศประมาณ 450,000 รายนั้น มีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ๆที่เสียภาษีครบถ้วนมากที่สุด ส่วนที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่เสียภาษีไม่ครบถ้วน ดังนั้น หากคนทั้งประเทศร่วมใจเสียภาษีให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด

 

รายได้ของรัฐบาลก็จะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย และมีเงินงบประมาณเพื่อนำมาใช้จ่ายและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ

 

หลักการจัดเก็บรายได้ของประเทศนั้นตามทฤษฎีแล้ว จะไม่มุ่งเน้นเรื่องของการเพิ่มรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะหากรัฐบาลมีรายได้เกินกว่าความต้องการใช้จ่าย ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาก็คือสภาพคล่องหรือเงินสดที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจจะหดหายไป รัฐบาลกลายเป็นคนที่มีเงินมากที่สุด ระบบเศรษฐกิจที่เคยคึกคักก็แห้งขอดไป

 

“การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะหากรัฐบาลเก็บรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ผมมั่นใจ 100% เลยว่ารัฐบาลพร้อมจะลดภาษีลงเพื่อให้ประชาชนและบริษัท ห้างร้านต่างๆให้เสียภาษีในอัตราน้อยที่สุด เช่น การลดภาษีแวต ซึ่งก่อนหน้านี้เราพูดถึงแต่เรื่องการขึ้นภาษี แต่จากนี้ไปอีก 10-15 ปีข้างหน้า เมื่อทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว เราจะพูดแต่เรื่องของการลดภาษี”

 

การถอนขนห่านของกรมสรรพากรในอดีตนั้น ไม่ใช่ต้องการฆ่าห่านให้ตาย แต่หมายความว่าถอนขนได้โดยห่านไม่ต้องตาย หมายความว่าทำให้กรมสรรพากร ประชาชน และผู้ประกอบการเดินไปด้วยกันได้

 

“ท้ายที่สุดนี้ ผมอยากให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากการทำบัญชีชุดเดียวมีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน ขณะเดียวกันตัวผู้ประกอบการเองก็สามารถพัฒนา และยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ตนเองได้ด้วย เพราะในอนาคตระบบเทคโนโลยีทันสมัยจะเข้ามามีบทบาทในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น หากวันนี้ยังไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ในวันข้างหน้าเทคโนโลยีก็จะสะกดรอยตามสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตเจออย่างแน่นอน” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในที่สุด.

 

ที่มา-ไทยรัฐฉบับพิมพ์