ปลอดเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 116 ล้านคน เดินทางออกไปยังต่างประเทศ นับเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึง 17% และมีการใช้จ่ายเงินในต่างประเทศมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นเงินตราที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นเงินที่ไหลออกไปยังต่างประเทศ ด้วยเหตุที่ต้องการสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินของประชากรในส่วนนี้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกไปยังต่างประเทศ กลับเข้ามาใช้จ่ายเงินในประเทศมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า (Inbound Duty Free Shop)
ปัจจุบันร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ในจีนโดยมากเป็นร้านค้าปลอดภาษีขาออก (Outbound Duty Free Shop) ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าก่อนออกเดินทางไปยังต่างประเทศ แต่ร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า (Inbound Duty Free Shop) ที่นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าหลังจากเดินทางมาถึง แต่ก่อนที่จะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองนั้น ยังมีแค่ในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวต่างชาติที่เดินทางมายังจีน ให้ได้จับจ่ายใช้สอยในประเทศจีนมากขึ้น รัฐบาลกลางจึงออกมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษีค้าเข้าจำนวน 19 แห่งในท่าเรือและท่าอากาศยานทั่วประเทศ
มณฑลกวางตุ้งเป็นอีกหนึ่งต้นทางที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกไปต่างประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่ง รัฐบาลจีนจึงได้อนุมัติการจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษีจำนวน 7 แห่งในท่าอากาศยานและท่าเรือ อาทิ ท่าอากาศยานไป๋หยุน นครกว่างโจว ท่าอากาศยานป่าวอันเมืองเซินเจิ้น ท่าเรือฝูเถียน หวงกั่ง ซาโถวเจี่ยว เหวินจิ่นตู้ เมืองเซินจิ้น และท่าเรือจ๋าโข่ว เมืองจูไห่
โดยร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าในท่าอากาศยานไป๋หยุนมีแผนจะเปิดในอาคารผู้โดยสาร 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2560 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2561 และคาดว่าจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 45 ล้านคนในปี 2563
สินค้าหลักที่คาดว่าจะวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษีขาเข้า ได้แก่ บุหรี่ เหล้า เครื่องสำอาง นมผงสำหรับเด็ก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ และอาหาร โดยรัฐบาลได้อนุมัติมูลค่าขั้นต่ำการซื้อสินค้าจากเดิม คนละไม่เกิน 5 พันหยวนต่อคน เป็น 8 พันหยวนต่อคนด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวมุ่งหวังที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและต่างชาติใช้จ่ายในประเทศจีนมากขึ้น
ถึงแม้ว่าทางการจีนจะมีมาตรการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อสินค้าในประเทศจีนมากขึ้น แต่ยังเกิดผลกระทบที่ค่อนข้างน้อยต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยยังนิยมที่จะซื้อสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของไทย อย่างเช่น สินค้าหัตถกรรม สินค้าท้องถิ่นอื่นๆ และอาหาร ซึ่งเป็นที่สังเกตว่ารัฐบาลจีนเองมองเห็นโอกาสของพลังแห่งการบริโภคของชาวจีนที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดนี้ก็นับเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยเช่นกัน โดยผู้ประกอบการไทยควรมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งคุณภาพสินค้า รูปแบบหีบห่อ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อตอบสนองรูปแบบการบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ
สนใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้า-การลงทุนและข้อมูลเศรษฐกิจประเทศจีนเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดตามชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaibizchina.com
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2559