ใครคือผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ภงด.51

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

     ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิเท่านั้น ประกอบด้วย
     

     1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

     2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว หรือเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยในรูปของสาขา โดยกิจการที่กระทำนั้นมิใช่กิจการขนส่งระหว่างประเทศ

     3. กิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว หรือเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยในรูปของสาขา โดยกิจการที่กระทำนั้นมิใช่กิจการขนส่งระหว่างประเทศ

     4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ หรือกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย โดยกิจการที่กระทำนั้นมิใช่กิจการขนส่งระหว่างประเทศ

     5. กิจการร่วมค้า ได้แก่ กิจการที่ดำเนินร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น

     สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงิน ได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด ในช่วงเวลาที่ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี เงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ตามปกติ เช่นเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลง ทุน เพราะการได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน เป็นแต่เพียงการได้รับสิทธิประโยชน์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่านั้น สำหรับหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องจัดทำโดยทั่วไป ก็ยังคงต้องดำเนินการ อาทิเช่น การยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล

     บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก ฐานอื่น เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบกิจการสายการบินหรือสาย การเดินเรือ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศไม่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51

     ปัจจุบันการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
     1.) การเสียจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำ และจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป
     2.) การเสียจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดให้มีผู้สอบทานงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 26 พ.ย. 34 เป็นต้นมา

     สรุปได้ว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน จำกัด ห้างหุ้นส่วน จำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน กิจการร่วมค้า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี จากประมาณการกำไร สุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ โดย ไม่ต้องปิดบัญชีครึ่งปี

     บริษัทจดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ที่กำหนดตาม ม.65 ทวิ และ ม.65 ตรี) ที่ได้รับอนุมัติให้มีผู้สอบทานงบการเงิน คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาหกเดือนนับแต่วัน แรกของรอบระยะเวลาบัญชี โดย คำนวณภาษีเงินได้จากกำไรขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นจริง

     รอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ได้แก่
     1. รอบระยะเวลาบัญชีที่มีกำหนดเวลา 12 เดือน ประกอบด้วย รอบระยะเวลาบัญชีแรกเฉพาะกรณีที่มีกำหนดเวลา 12 เดือน รอบระยะเวลาบัญชีที่ดำเนินกิจการมาเป็นปกติ และรอบระยะเวลาสุดท้ายเฉพาะกรณีที่มีกำหนดเวลา 12 เดือน
     2. รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งมีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือน

 

 

ขอขอบคุณที่มา : คุณหนึ่งฤทัย ดาษดาร หัวหน้าแผนกบริการบัญชี 31 บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด