กสทช.เผยกล่องทีวีดิจิตอลไม่ผ่านมาตรฐาน 6 รุ่น 4 ยี่ห้อ

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

       

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กสท. ยังไม่ได้ตัดสินเรื่องกรณีที่ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด(มหาชน) หรือ SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอัตรา 12.2% ของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เนื่องจากพล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. ไม่ขอออกเสียง ส่งผลให้ผลตัดสินออกมาเสมอกัน 2 ต่อ 2

       

ทั้งนี้ พล.ท.พีระพงษ์ ได้ชี้แจงว่าเบื้องต้นเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. ที่ไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งถือครองใบอนุญาตในประเภทช่องรายการใด รายการหนึ่งเกิน 1 ช่อง แต่ยังคงติดใจเรื่องการถือครองสัดส่วนหุ้นในบางจุด จึงยังไม่สามารถตัดสินใจได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ มีมติให้ พล.ท.พีระพงษ์ ไปดำเนินการศึกษาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอีกครั้ง ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ต้องมาชี้แจงผลการตัดสินใจในการประชุมบอร์ด กสท.วันที่ 23 มี.ค.นี้

       

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับลดคณะอนุกรรมการ ที่ดำเนินการภายใต้ กสท. จากเดิมกว่า 20 ชุดให้เหลือ 10 ชุด ตามนโยบายของคณะกรรมการกสทช. เพื่อเตรียมพร้อมการควบรวมกรรมการย่อยของกสทช. ได้แก่ กสท. และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) โดยอนุกรรมการทั้ง 10 ชุด จะแบ่งเป็น 5 ด้าน ด้านละ 2 ชุด ซึ่งในแต่ละด้านจะมีบอร์ด กสท. 1 คน เป็นผู้กำกับดูแล ได้แก่ 1.ด้านเทคโนโลยี และใบอนุญาตวิทยุ กำกับดูแลโดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ 2.ด้านใบอนุญาตโทรทัศน์ และเนื้อหารายการ กำกับดูแลโดย พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ 3.ด้านกำกับดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรม และเศรษฐศาสตร์ กำกับดูแลโดย ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ 4.ด้านกฎหมาย และคดีความทางปกครอง กำกับดูแลโดย พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า และ5.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และกำกับดูแลวิชาชีพ จะกำกับดูแลโดยตนเอง

       

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท. ด้วยว่า จากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาด จำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล จำนวน 6 รุ่น จาก 4 แบรนด์ มีการใช้ระบบเสียงในการให้บริการไม่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์หรือตรงตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 แบรนด์ที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เดินทางมาชี้แจงยัง กสทช. โดยด่วนพร้อมทั้งให้ดูผู้บริโภคด้วยว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ หากมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบก็จะต้องมีการดำเนินการเยียวยา รวมทั้งหากไม่ผ่านมาตรฐานจริงก็จะต้องประกาศให้ประชาชนรับทราบ

       

รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช. แจ้งว่า กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ แบรนด์เอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่นDVB-92 แบรนด์ครีเอเทค รุ่นCT-1 และ CT4 แบรนด์ฟินิกซ์ รุ่น T2color และ แบรนด์โซเคน รุ่น DB233

 

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์