“บิ๊กตู่” จัดหนักอุ้มธุรกิจรายย่อย ดันสุดลิ่มติดแบล็กลิสต์ก็ขอกู้ได้

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะการช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อให้มีเงินในการพัฒนาปรับปรุงกิจการให้พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันหรืออยู่ในกลุ่มที่ธนาคารกังวลว่าจะเกิดหนี้เสีย รัฐบาลจะเข้าไปดูแลโดยสั่งการให้สำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดทำแผนพัฒนาเอสเอ็มอีต่อไป ส่วนเอสเอ็มอีชั้นดีทางธนาคารพาณิชย์เอาเป็นลูกค้าไปหมดแล้ว

 

ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) เสนอประกอบไปด้วย 10 มาตรการ ได้แก่ 

 

1.ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งสินเชื่อส่วนนี้จะมีการพิจารณาปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีประวัติแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโรด้วย

 

2.โครงการ Machine Fund เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเอสเอ็มอี 

 

3.มาตรการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสามารถผ่อนปรนการวิเคราะห์สินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่มีประวัติแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโร 

 

4.มาตรการผ่อนปรนการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้แก่ลูกค้า ซึ่งขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย และลูกค้ารายใหม่ที่มีศักยภาพไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย 

 

5.ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 เพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท 

 

6.ชะลอการโอนอำนาจกระทรวงการคลังเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

 

7.ทบทวนกำหนดตัวชี้วัดสถาบันการเงินในกำกับรัฐให้สอดคล้องกับพันธกิจเพื่อให้ชี้วัดจากผลกำไรเป็นหลัก 

 

8.โครงการขยายสาขาของเอสเอ็มอีแบงก์รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค 

 

9.โครงการจัดตั้งเว็บไซต์เพื่อสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าในประเทศและกลุ่มอาเซียน +6 และ 

 

10.โครงการศูนย์ให้บริการธุรกิจเอสเอ็มอีครบวงจร.

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์