“อาเซียนจับมือรวมตัวทางการเงินเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน”

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 19 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 1 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า “การรวมตัวของประเทศอาเซียน 10 ประเทศเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC) มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่อาเซียนได้ดำเนินการตามแผนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ตามเป้าหมายในช่วงระหว่าง ปี 2552-ปัจจุบัน ไปแล้วถึงร้อยละ 77.7 ขณะที่ในสาขาการเงินการคลังได้ดำเนินการตามเป้าหมาย  ในช่วงระยะเวลาเดียวกันได้สูงถึงร้อยละ 80 และคาดว่าจะบรรลุตามเป้าหมายได้ภายในสิ้นปีนี้ และเพื่อเป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวและความร่วมมือที่ใกล้ชิดในสาขาการเงินการคลังของประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ที่ประชุมมีมติให้จัดการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน และเปลี่ยนชื่อการประชุมเป็น “การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM)” โดยการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรก”

 

ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินการกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้แก่โครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Connectivity) โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นผู้จัดการกองทุนดังกล่าว ปัจจุบัน AIF มีเงินกองทุน 485.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และให้กู้ไปแล้วร่วมกับเงินกู้ของ ธนาคารพัฒนาเอเชียรวม 3 โครงการ ในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเป็นเงิน 165 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้มีการใช้กองทุน AIF ช่วยค้ำประกันโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ด้วย ซึ่งในประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ควรพิจารณาบทบาทของกองทุนเพิ่มเติมในการให้การสนับสนุนด้านเงินทุน (Equity) แก่โครงการเพิ่มเติมจากเป็นเงินกู้เพียงอย่างเดียว เพราะกองทุนสามารถได้รับผลตอบแทนในรูปรายได้ด้วย

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอรายงานเศรษฐกิจโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) จากรายงานต่างๆ พบว่า เศรษฐกิจของอาเซียนยังมีความแข็งแกร่ง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงจากการใช้จ่ายภาคเอกชน และการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงต้องระมัดระวังต่อความเสี่ยงภายนอก เช่น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าเงินของกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกที่ไปคนละทิศทางกัน ในแง่ความเปราะบางหรือจุดอ่อนของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งหลายสำนักชี้ว่าควรเฝ้าระวังในบางเรื่อง เช่น หนี้ครัวเรือนและการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนยืนยันที่จะดำเนินนโยบายการเงินการคลังของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างรอบคอบ เพื่อให้เศรษฐกิจ เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคในภาพรวมด้วย

 

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในพิธีสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 

 

          (1) พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 6 ภายใต้กรอบการตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ซึ่งพิธีสารฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือการรับรองให้มีการดำเนินการเปิดเสรีสาขาธนาคารพาณิชย์ภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) ซึ่งเป็นการให้สิทธิกับประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่สองประเทศขึ้นไปสามารถเจรจาเพื่อกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์ที่จะอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการในประเทศคู่เจรจาได้ (Qualified ASEAN Banks: QABs) บนพื้นฐานของความสมัครใจของ 2 ประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีทุกประเทศเข้าร่วมการเจรจา นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ยกระดับข้อผูกพันผูกพันการเปิดเสรีในส่วนของสาขาประกันภัยและสาขาธนาคารพาณิชย์ให้เทียบเท่ากฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน 

          (2) พิธีสารว่าด้วยกรอบกฎหมายเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (Protocol on the Legal Framework to Implement the ASEAN Single Window) ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการติดต่อสื่อสาร และการประมวลผลทางอิเล็กทรอนิกส์ของธุรกรรมระหว่างระบบ National Single Window ของแต่ละประเทศสมาชิก เป็นไปตามมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับข้อกำหนดในความตกลงระหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการทำให้เทคนิคและการปฏิบัติทางศุลกากรมีความทันสมัย

 

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3684

 

ที่มา : กระทรวงการคลัง