เอกชนเสนอฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้แทนสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์  (EABC)  นำโดยนายรอล์ฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล นายกสมาคมฯ  โดย EABC เสนอตัวเป็นตัวกลางเพื่อผลักดันให้เกิดการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป  (อียู)  เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม และการพัฒนา โดย FTA จะช่วยให้ไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและขับเคลื่อนให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

          ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความยินดีกับข้อเสนอแนะของ EABC และเห็นว่าการเจรจา FTA ต้องสร้างประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี การเจรจาต้องดูความพร้อมของคู่เจรจาด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลมี นโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างเสรี ทั้งในระดับพหุภาคี และทวิภาคี และขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน จึงขอให้ฝ่าย EABC มั่นใจในนโยบายการค้าและการลงทุนของไทย และเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนของยุโรปเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

          สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (European Association for Business and Commerce : EABC) เป็นสมาคมธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหอการค้ายุโรปและองค์กรภาคธุรกิจทั้งที่อยู่ในไทยและยุโรป 16 แห่ง ร่วมกับนักธุรกิจยุโรปในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังและทรัพยากรของภาคเอกชนยุโรป ให้เป็นหนึ่งเดียวในการสร้างความเข้มแข็ง ตลอดจนช่วยเหลือและส่งเสริมบรรยากาศทางการค้า การบริการ และการลงทุนให้กับบริษัทจากยุโรปในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและคาดหวังที่จะใช้ไทยเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

          ปัจจุบัน EABC มีสมาชิกเป็นบริษัทของยุโรปที่มีธุรกิจในประเทศไทย จำนวนกว่า 2,000 บริษัท โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 EABC ได้ออกเอกสารท่าทีและจุดยืนของภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทยประจำปี 2558 (European Business Position Paper) ซึ่งเน้นย้ำว่า EABC สนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคงระหว่างไทยกับยุโรป โดยเฉพาะการเจรจา FTA ไทย-EU

 

          ในปี 2557 สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 5 และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 4 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 42,802.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 3.62 โดยไทยได้ดุลการค้า 3,883.87 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปมีมูลค่า 23,342.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 4.22 การนำเข้ามีมูลค่า 19,459.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 11.60

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย