ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.พ.กลับมาเป็นบวกในรอบ23 เดือน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 23 เดือนโดยขยายตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัว อาทิ การกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หดตัวร้อยละ 1.6 จากมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวลดลง รวมทั้งการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสิ่งทอที่หดตัว อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าสำคัญรายการอื่นๆ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ)  เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ แผงวงจรไฟฟ้า ยังมีการส่งออกขยายตัว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.9 จากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่ขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 5.

 

          “ดัชนีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประเมินทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 3-4 แต่ยอมรับว่ายังมีความกังวลสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ประกอบกับมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักยังลดลงทุกตลาด มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีการขยายตัว โดยตลาดญี่ปุ่นหดตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 9″นายสมศักดิ์กล่าว

 

          ในส่วนของอุตสาหกรรมรายสาขาหลักๆ ในส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์  การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 178,351 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.79,อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมภาวะการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.05  ,อุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.06 เนื่องจากกลุ่มเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน  ยกเว้นพัดลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65  ,อุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.2

 

          ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 มีปริมาณ 1.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.20 ,การผลิตมีปริมาณ 0.47 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 23.45  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงทรงตัว  ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศและการผลิตเหล็กทรงยาว มีทิศทางที่ลดลง ร้อยละ 10.7 และ ร้อยละ 20.1 ตามลำดับ  เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการของภาคเอกชนที่ชะลอตัว ในขณะที่โครงการของภาครัฐในส่วนของการก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้น

 

          ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตสินค้ากลุ่มสิ่งทอปรับตัวลดลง โดยผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.11 ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนลดลง ร้อยละ 12.41 จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.79 ตามความต้องการใช้ในประเทศ  ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย