บีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุน 3 เดือนแรกเกือบ 800 โครงการ

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 บีโอไอพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกปี 2558 (ม.ค.-มี.ค.) บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 793 โครงการ เงินลงทุนรวม 217,560 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการอนุมัติโครงการลงทุนช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่า (โครงการที่ได้รับการอนุมัติช่วง 3 เดือนแรกปี 57 มีมูลค่า 34,650 ล้านบาท)

 

           สำหรับกิจการที่ได้รับการอนุมัติในช่วงไตรมาสแรก กระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค 176 โครงการ เงินลงทุน 60,570 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 98 โครงการ เงินลงทุน 56,130 ล้านบาท เคมีภัณฑ์พลาสติก และกระดาษ 179 โครงการ เงินลงทุน 35,850 ล้านบาท กิจการ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 145 โครงการ เงินลงทุน 29,880 ล้านบาท เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 139 โครงการ เงินลงทุน 19,790 ล้านบาท อุตสาหกรรมเบา 43 โครงการ เงินลงทุน 10,120 ล้านบาท และกิจการกลุ่มแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมุลฐาน 13 โครงการ เงินลงทุน 5,210 ล้านบาท

 

            “บีโอไอเร่งอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาของบอร์ดบีโอไอที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว บีโอไอยังมีคณะทำงานพิจารณาโครงการและคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการที่สามารถประชุมเพื่ออนุมัติโครงการได้เป็นประจำทุกสัปดาห์ จึงมั่นใจว่ากิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ให้เติบโตได้อย่างแท้จริง” นางหิรัญญา กล่าว

 

              สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 3 เดือน มีจำนวนทั้งสิ้น 176 โครงการ เงินลงทุนรวม 28,830 ล้านบาท กิจการส่วนใหญ่ 94 โครงการ (มูลค่า 15,140 ล้านบาท) หรือร้อยละ 53 ของโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ และสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล อาทิ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจการซอฟต์แวร์ ทั้งในส่วนเอ็นเตอร์ไพรซ์ซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กิจการศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ เป็นต้น.

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย