ผู้ว่าธปท.หวังเอกชนจับมือรัฐบาลแก้ปัญหาใบเหลืองสินค้าประมง

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่สภาพยุโรป หรือ อียู ประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทย และให้เวลา 6 เดือน แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในสินค้าประมง หากไม่คืบหน้า จะแบนการนำเข้าสินค้าประมงของไทย ว่า พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช.ได้กำชับไปยังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือกกร. ให้เอกชนช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเต็มที่ โดยอยากให้อียูมองที่ความตั้งใจของประเทศไทยที่มุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย เพราะไม่เช่นนั้นคงจะเสียกำลังใจได้

 

           ส่วนผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยนั้น นายประสารกล่าวว่า ขณะนี้การส่งออกของไทยโตได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงจึงทำให้การส่งออกไปยังจีนลดน้อยลง และที่ผ่านมาไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบค่อนข้างมาก

 

          ผู้ว่าธปท.ยังกล่าวถึงจีดีพีไตรมาส 1 ปี2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 นั้น หากเทียบกับปีก่อนอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 3 ถือเป็นการขยายตัวที่ใช้ได้ เนื่องจากไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเรื่องการเมือง ทำให้จีดีพีโตต่ำ แต่หากเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 ที่เศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างสูง เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ ยังคงหดตัวลงเล็กน้อย  ซึ่งทำให้มองเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าต้องมีความระมัดระวังอยู่ แต่ในไตรมาส 2 และ 3 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการหารือตัดสินใจนโยบายการเงิน วันที่ 29 เมษายน นี้

 

          ส่วนกรณีที่เอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกนั้น ยอมรับว่าในช่วง 2-3วันนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากปัจจัยที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่ค่อยดี ขณะที่เงินสกุลภูมิภาคอ่อนค่าจากปัจจัยเฉพาะในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ธปท.ดูแลอยู่และจะนำมาพิจารณาในการประชุมกนง.ด้วยเช่นกัน

 

          ผู้ว่าธปท. ยังกล่าวถึงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2558 ของธนาคารพาณิชย์ ที่พบว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นว่า ไม่น่ากังวล เพราะธนาคารพาณิชย์ ยังสามารถจัดการดูแลได้ และที่ผ่านมาในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์มีกำไรได้กันสำรองในระดับสูงอยู่แล้ว นอกจากนั้นจากการพิจารณาเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้อยู่ระดับสูงเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เหมาะสม.

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย