ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงจนถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีล่าสุดอยู่ที่ระดับ 87 % ของจีดีพี โดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่กลางปีที่แล้วและยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ซึ่งล่าสุดอัตราเพิ่มของหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 5% จากที่เคยมีอัตราการเพิ่มถึง 18% ในปี 2555 และยังเป็นการเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าบางประเทศเช่นมาเลเซียด้วย จึงถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
สำหรับอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงในขณะนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนได้มีการใช้หนี้คืนบางส่วนแล้ว เนื่องจากมีรายได้เพียงพอจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการที่รัฐบาลมีการให้ใบอนุญาตจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์กับผู้ประกอบการแล้ว 6 ราย วงเงินจดทะเบียนกว่า 2,000 ล้านบาท อีกทั้งจะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอีกหลายรายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบซึ่งมีภาระดอกเบี้ยสูง ได้เข้ามาสู่ระบบนาโนไฟแนนซ์ซึ่งภาระดอกเบี้ยน้อยกว่า รวมถึงกระทรวงการคลังได้ให้ธนาคารรัฐดูแลลูกหนี้ครัวเรือนที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้น้อยลงรัฐบาลยืนยันว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนกำลังส่งสัญญาณคลี่คลายและไม่น่ากังวล และปัญหาหนี้เสียหรือ NPLในขณะนี้ถือว่ายังไม่เพิ่มสูงมาก โดยเชื่อมั่นว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะค่อย ๆ คลี่คลายลงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะในปีนี้ที่คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศจะมีอัตราการขยายตัวราว 3.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นชัดเจนจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัวเพียง 0.7%
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาสะสม ก่อนที่รัฐบาลปัจจุบันจะเข้ามาบริหารประเทศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากช่วงสถานการณ์น้ำท่วมและโครงการรถยนต์คันแรก ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสนง.คกก.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จะส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนค่อย ๆ ลดลงต่อไป
ที่มา : รัฐบาลไทย