นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงระหว่างการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 59 ว่า การที่รัฐบาลกำหนดกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี59 วงเงินรวม 2.72 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท จัดสรรให้สำหรับรายจ่ายเงินลงทุน 5.43 แสนล้านบาท เพื่อต้องการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบหวังฟื้นเศรษฐกิจ โดยงบลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด และงบการลงทุนเน้นไปในด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 86,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนทั้งหมดของโครงสร้างพื้นฐานในช่วงงบปี 59 ต้องการเงินลงทุน 265,000 ล้านบาท เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณ 86,000 ล้านบาท จึงต้องกู้เงินจากระบบมาลงทุน 1.29 แสนล้านบาท เงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 13,000 ล้านบาท และการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน 36,000 ล้านบาทจากนั้นเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 60 เพิ่มเป็น 389,000 ล้านบาท และในปี 61 เพิ่มเป็น 465,000 ล้านบาท นอกจากการใช้กู้เงินและเงินงบประมาณรัฐบาลแล้ว ยังต้องหาทางจัดเก็บภาษีในด้านต่างๆ เพราะไทยมีรายได้จัดเก็บภาษีร้อยละ 18-19 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศอาเซียนสัดส่วนร้อยละ 21 ประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนร้อยละ 30 รัฐบาลจึงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ดีขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหาภาระหนี้สิน รัฐบาลมีภาระจากโครงการจำนำข้าวประมาณ 513,920 ล้านบาท เมื่อรวมภาระหนี้ของการรถไฟฯ , ขสมก. หนี้กองทุนประกันสังคม รวมมีภาระหนี้ต้องบริหารจัดการประมาณ 726,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงต้องออกพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3.5 ระยะเวลา 20 ปี จึงมีภาระต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 64,000 ล้านบาทต่อปีตลอดระยะเวลา 20 ปี จึงต้องหาแนวทางบริหารจัดการภาระหนี้ให้ลดลงโดยเร็ว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี สมาชิก สนช. อภิปรายว่า เสนอแนะให้รัฐบาลใช้งบประมาณพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น เพราะเมื่อเอกชนแข็งแรง รัฐบาลได้ภาษีมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการดูแลลิขสิทธิ์สินค้า แต่ไทยยังให้ความสำคัญน้อย เพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียง 300 ล้านบาท จึงหวั่นเกรงว่าจะไม่สามารถผลักดันการจดทะเบียนสิทธิ์ได้มากนัก และเสนอให้กระทรวงต่างๆ ทำแผนเชื่อมโยงกับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้น
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช. เสนอแนะว่า ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ สนามบิน ท่าเรือ เพื่อเป็นหัวจักรให้เงินลงทุนจากเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น ผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเงินร่วมลงทุนเอกชน รวมทั้งควรเร่งแก้ปัญหาการส่งออก เพราะขณะนี้การส่งออกของหลายประเทศดีขี้นแล้ว แต่การส่งออกของไทยยังชะลอตัวเพราะสินค้าไทยได้รับการยอมรับน้อยลง เพราะถูกย้ายฐานการผลิต จึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ จึงต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้เป็นพื้นฐานสำคัญ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพในทุกด้าน เพราะเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ สมาชิก สนช. ย้ำว่า รัฐบาลต้องหาทางแบ่งเบาภาระการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน ในการศึกษาของโรงเรียนของรัฐให้มากขึ้น เพราะแรงงานคุณภาพจะส่งผลต่อระบบเศษฐกิจให้เข้มแข็งมากขึ้น
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบน้ำสำหรับเกษตรกรและอุตสาหกรรม จัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค การป้องกันน้ำท่วม การพัมนาคุณภาพ การอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นน้ำ และบริหารจัดการน้ำ โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านที่ขาดแคบนน้ำประปา 7,490 หมุ่บ้าน มีน้ำประปาใช้ในปี 59 สัดส่วนร้อยละ 80 และครบทั้งหมดในปี 60 และจัดการน้ำสำหรับระบบเกษตรให้เพิ่มจาก 30 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 40 ล้านไร่ในช่วง 10 ปีข้างหน้า หลังจากที่ผ่านมานกยกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ใช้งบประมาณที่ค้างของปี 57,58 นำมาขุดลอกคูคลองในช่วงที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ยอมรับว่าขณะนี้ตัวเลขการท่อองเที่ยวขยายตัวดีขึ้นมาก จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับปัญหาของกองทุน สปสช. จึงต้องสั่งให้ตรวจสอบผู้บริการกองทุน สปสช.
ที่มา : สำนักข่าวไทย