นักลงทุนจีน-อินเดียแห่ซื้อยางไทย

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายเสวก ทองเกศ รองประธานสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย (ภาคใต้) เปิดเผยว่า ขณะที่ตลาดโลกขาดแคลนยางพาราทำให้นักลงทุนจีนและอินเดียได้ติดต่อขอซื้อยางมายังสถาบันเกษตรกรยางพาราโดยตรง ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งบางแห่งไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะเกรงว่ามีผลผลิตไม่พอจำหน่าย  

 

          “เขาต้องการซื้อยางเครปและยางเอสทีอาร์ 20 จากภาคเหนือ ภาคอีสาน  และยางแผ่นรมควันจากภาคใต้ ซึ่งให้ราคาสูงกว่าตลาด 50 สตางค์ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ คาดว่าจะนำร่องที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช” นายเสวก กล่าว 

 

          ขณะเดียวกัน นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ คาดว่า ในปีนี้ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จะมีราคาเฉลี่ย 60 บาท/กิโลกรัม และบางช่วงราคาจะไม่เกิน 65 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดนโยบายลดพื้นที่ปลูกยาง 5-7 แสนไร่/ปี หรือลดพื้นที่จาก 22 ล้านไร่ ลง 17 ล้านไร่ ภายในปี 2562 ซึ่งจะลดผลผลิตยางเหลือ 3.7 ล้านตัน เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาดส่งออกและการใช้ประเทศ จากปัจจุบันที่ผลผลิตยางอยู่ที่ 4.1 ล้านตัน  

 

          ด้าน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าผู้บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) กล่าวว่า ราคายางพาราที่ซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเฉพาะจีนผู้ใช้ยางพาราอันดับ 1 ของโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับนโยบายป้องกันการทุ่มราคา (Anti-Dumping) ของสหรัฐ และยุโรปที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้ายางรถยนต์ราคาถูกจากจีน ส่งผลให้การใช้ยางพาราของจีนเพื่อผลิตยางล้อไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

 

          นอกจากนี้ บริษัท ร่วมทุนฯ จะจัดประชุมผู้แทน 3 ประเทศ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่เมืองยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 8–9 มิ.ย.นี้ เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นและผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 และในอนาคต

 

          สำหรับนโยบายสำคัญที่จะหารือคือการลดพื้นที่ปลูกยางพาราของ 3 ประเทศ เพื่อลดปริมาณผลผลิตที่จะมีนัยสำคัญต่อการดันราคาให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากนัก ยกเว้นไทยมีนโยบายลดพื้นที่มีนโยบายลดพื้นที่ปลูกอย่างจริงจังจาก 20-22 ล้านไร่เหลือ 17 ล้านไร่

 

          "หากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ดำเนินมาตรการนี้ได้ ในปี 2558 คาดว่าผลผลิต 3 ประเทศจะลดลงประมาณ 30% ของผลผลิตปี 2557 หรือราว 158,447 ตัน/ปี คิดเป็น 10% ของผลผลิตทั้งปีของ 3 ประเทศ " นายเยี่ยม กล่าว

 

          อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศและเวียดนามจะเร่งดำเนินการเรื่องอื่นๆ เช่น การจัดตั้งสภายางอาเซียนเพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาการผลิต การวิจัยตลาดของอุตสาหกรรมยางในภูมิภาค การเร่งจัดตั้งตลาดยางพาราซื้อขายส่งมอบจริงให้เสร็จภายในกลางปี 2559 การจัดตั้งกองทุนร่วมเพื่อใช้บริหารเก็บสต๊อกและขายยางพาราร่วมกัน

 

          ขณะที่ไทยจะเร่งโค่นสวนยางที่ได้รับการสงเคาะห์ที่หมดอายุเพื่อลดผลผลิตและหยุดการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ใหม่อย่างน้อย 5-6 ปี รวมถึงจดทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อเป็นฐานข้อมูลวางแผนและควบคุมปริมาณยางให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

 รูปภาพ : traveltoodle