พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ต้องประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรชาวนาให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปอีก 1 เดือน ว่า เป็นหน้าที่ของกรมชลประทานในการจัดสรรน้ำไปใช้ทั้งอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่มีหน้าที่วางยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำระหว่างปี 2558-2560 ขณะที่แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่ต้องเลื่อนปลูกข้าวออกไปเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการกำหนดแผนช่วยเหลือ เช่น ที่ผ่านมามีการจ้างงานคนในพื้นที่ สำหรับมาตรการในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะดูแลเรื่องของราคาสินค้า โดยการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและจัดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นราคาถูกไปจำหน่ายในพื้นที่
ด้านสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกขณะนี้ที่มีราคาตกต่ำกว่าราคาเป้าหมายของรัฐบาลที่ 8,000-8,500 บาทต่อตันนั้น เป็นไปตามราคาตลาดโลก เชื่ออีก 2 เดือนต่อจากนี้ราคาตลาดจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตออกมาน้อยลง แต่ในส่วนของไทยแม้จะเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไป 1 เดือนก็ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตโดยรวม ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ส่วนราคาขายข้าวของชาวนาที่พบว่าอยู่ที่ 6,000-6,500 บาทต่อตันนั้น เนื่องจากขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่สร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรชาวนาปลูกข้าว โดยการเน้นคุณภาพ รักษาระดับความชื้นและไม่เร่งเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด ส่วนข้อเสนอของเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวในสตอก เนื่องจากคุณภาพข้าวในสตอกเริ่มมีการเน่าเสียมากขึ้น จึงควรเร่งระบายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นความคิดของกระทรวงพาณิชย์และนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบในแนวทางดังกล่าว แต่ที่ยังไม่สามารถระบายได้ เพราะปริมาณข้าวส่วนใหญ่ยังติดปัญหาเรื่องคดีความ และรัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาการกระทำความผิดด้านกฎหมายที่อาจตามมาภายหลังได้
ขณะที่ความคืบหน้าการจัดจำหน่ายข้าวถุงราคาถูกให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นกำหนดปริมาณข้าวไว้ที่ 5,000 ตัน เป็นข้าวขาว 5% ในสตอกของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้จัดหาข้าวในสตอกรัฐบาลที่มีคุณภาพดีส่งให้สหกรณ์ชุมชนนำไปบรรจุถุงจำหน่าย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมยืนยันราคาจำหน่ายจะถูกกว่าราคาในท้องตลาดร้อยละ 10 ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ 50,000 ครัวเรือน ซึ่งเป็นข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย โดยโครงการนี้จะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท หากโครงการนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนมากจะมีการพิจารณาขยายโครงการออกไป พร้อมยืนยันว่าไม่ทำให้กลไกของตลาดเสีย เพราะการจัดทำโครงการดังกล่าวกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่มกับภาคเอกชน
สำหรับการประมูลข้าวสตอกรัฐบาล มีการเปิดประมูลไปแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ โดยสามารถขายข้าวได้แล้ว 2.73 ล้านตัน มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท และการเปิดประมูลข้าวครั้งที่ 8 ( ครั้งที่ 3/58) วันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ซื้อเสนอราคาผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 40 ราย ปริมาณรวม 840,000 ตัน จากปริมาณข้าวที่นำมาเปิดประมูล 1.065 ล้านตัน ซึ่งปริมาณที่เหลือกระทรวงพาณิชย์จะนำไปรวมกับการเปิดประมูลรอบต่อไปในเดือนกรกฎาคม 2558.
ที่มา : สำนักข่าวไทย