นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 22 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่กรมชลประทานได้ประกาศเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไป 1 เดือนว่า รมว.เกษตรฯได้ย้ำให้กรมชลฯดูแลการส่งน้ำ ให้แก่นาข้าว 3.4 ล้านไร่ในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยาที่เกษตรกรลงมือเพาะปลูกไปแล้วไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่หากพื้นที่เขตชลประทานใดไม่สามารถกระจายน้ำดูแลนาข้าวที่ปลูกแล้วได้ตามแผน ก็ให้เร่งแจ้งปัญหาเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
“รมว.เกษตรฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน แต่หากเกิดปัญหามวลชนให้ประสานกับฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงมาช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังได้กำชับผู้ว่าราชการ 22 จังหวัด ให้ดูแลทำความเข้าใจเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวรวมประมาณ 4 ล้านไร่ ไม่ให้ลงมือเพาะปลูกเพิ่ม”
นายสุเทพกล่าวว่า ตนได้เรียกประชุมสำนักชลประทานทั่วประเทศรวม 17 แห่ง มาติดตามความคืบหน้าแผนการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรเพื่อประคับ ประคองไม่ให้เกิดความเสียหายในช่วงที่ฝนแล้ง เบื้องต้นทุกพื้นที่ยืนยันว่าจะสามารถจัดสรรได้ ซึ่งตนได้กำชับให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจพื้นที่การเพาะปลูกของชาวนามาให้ละเอียด โดยต้องได้รายชื่อมาให้ได้ว่าเกษตรกรคนไหน ปลูกกี่ไร่ ปลูกที่ไหน คนไหนยังไม่ได้ปลูก ต้องมีชื่อมาให้ชัดเจน เพราะสิ่งที่รัฐบาลต้องการทราบ คือ พื้นที่ที่เกษตรกรจะได้รับความเดือดร้อน เพราะจะได้จัดการช่วยเหลือไปได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ได้กำชับสำนักชลประทานทั่วประเทศด้วยว่า การจัดสรรน้ำในปีนี้ต้องประหยัดและเก็บน้ำให้ละเอียดทุกเม็ดประคับประคองเกษตรกรไปให้ถึงปลายเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งกรมอุตนิยมวิทยาคาดว่าจะมีฝนหนาแน่นมากขึ้น ตนเชื่อมั่นว่าแม้ฝนจะน้อยกว่าปกติ 10% แต่เพียงพอที่จะช่วยให้เกษตรกรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยากลับมาเพาะปลูกกันได้เต็มพื้นที่ 7.4 ล้านไร่ ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพียงแต่พื้นที่นอกเขตชลประทานอาจจะมีปัญหา
ส่วนประเด็นที่กังวลกันว่ากรมชลฯขอให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไป 1 เดือน จะส่งผลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวหนีน้ำหลากไม่ทันพืชผลจะเสียหายนั้น เรื่องนี้ขอให้เกษตรกรไม่ต้องกลัว เพราะขณะนี้น้ำเหนือไม่มี ไม่มีปัญหาน้ำเหนือไหลหลากแน่นอน ในทางกลับกัน ตนมองว่า การเลื่อนปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ออกไป 1 เดือน จะมีส่วนช่วยให้ราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรปรับเพิ่ม ขึ้นได้ เพราะเท่ากับว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดเพียงครึ่งเดียว พ่อค้าต้องไปรอลุ้นในครึ่งหลังว่าจะได้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด จึงอาจจะต้องแย่งซื้อข้าวกันในช่วงนี้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์