พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) โดยมีผู้ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 20 บริษัท ได้รับใบอนุญาตแล้ว 5 บริษัท คือ บริษัท เงินสด ทันใจ จำกัด, บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด, บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน), บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด และบริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทที่เปิดให้บริการแล้ว 2 ราย มีดังนี้คือ บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด ได้เริ่มให้สินเชื่อประมาณ 15 ราย รายละ 10,000-50,000 บาท โดยผู้ขอกู้ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด มีผู้ติดต่อขอเงินกู้ประมาณ 1,000 ราย และเริ่มให้สินเชื่อประมาณ 50 ราย รายละ 10,000 บาท รวม 2 บริษัทปล่อยกู้ได้ 65 ราย โดยผู้ขอกู้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในปทุมธานี สาเหตุที่นาโนไฟแนนซ์ยังปล่อยสินเชื่อได้น้อย คาดว่าจะมาจากประชาชนมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์คิดที่ 20% กว่าต่อปี จากที่กำหนดสูงสุดไว้ที่ 36% ต่อปีนั้น ยังสูงเกินไปและทางผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์เองก็ระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ประมาณการภายใต้สมมติฐานว่า ผู้ยื่นคำขอทั้ง 18 ราย ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจะสามารถให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมสูงสุดประมาณ 80,242 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า ธปท.ได้แจ้งยอดการอนุมัติสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในช่วงเดือน พ.ค.58 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเปิดให้บริการ เป็นเงินจำนวน 600,000 บาท.
ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์