ศก.กำลังฟื้นตัว ส่งออกซบเซา เตือนครัวเรือนระวังค่าใช้จ่าย

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ในเดือนพฤษภาคม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ และเปราะบาง โดยมีเพียงภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงซบเซาและการใช้จ่ายภาคเอกชนอ่อนแอ สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่อง และดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล

 

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

          ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวจีนและมาเลเซีย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังจากที่ลดลงมากในช่วงก่อนหน้าจากปัญหาทางเศรษฐกิจของรัสเซีย ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนในโครงการด้านคมนาคม ขนส่ง และชลประทานที่มีการก่อหนี้ผูกพันไว้แล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำยังคงใกล้เคียงกับปีก่อนๆ สำหรับรายได้รัฐบาลลดลงมากจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ

 

          การส่งออกสินค้าซบเซาต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกหลายรายการที่เคลื่อนไหวตามราคาน้้ำมันดิบยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ คำสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศลดลงมาก ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภครอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนนี้จึงหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และยังคงเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า มีเพียงการส่งออกสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวสูงจากความต้องการมันสำปะหลังของจีน เพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวโพดในการผลิตเอทานอลที่รัฐบาลจีนมีนโยบายให้ใช้ข้าวโพดสำหรับการบริโภคเท่านั้น

 

          ด้านครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะรายได้เกษตรกรถูกบั่นทอนจากราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรทรงตัว ประกอบกับผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ภัยแล้ง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่่ำตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับสินเชื่อยานยนต์ที่ยังคงหดตัว แม้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการจะปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อน อาทิ กลุ่มสินค้า Fast-moving consumer goods และน้้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งบริการในหมวดขนส่งและการสื่อสาร เป็นต้น

 

          อุปสงค์ในและต่างประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำทั้งในกลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก รวมทั้งทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนออกไปโดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ แม้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจจะต่ำลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนจึงลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวสูง ประกอบกับการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์มีน้อยลง แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ขณะที่การลงทุนด้านก่อสร้างทรงตัวต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าสินค้าหดตัวในทุกหมวด โดยการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคต่ำลงสอดคล้องกับการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบ (ไม่รวมน้ำมัน) ลดลงตามการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเร่งนำเข้าเพื่อสะสมสต็อกไปแล้วในเดือนก่อน

 

          ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเล็กน้อยตามต้นทุนในกลุ่มอาหารที่ลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าสินค้าที่ลดลง สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันการเงิน และการขายหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ แต่โดยรวมแล้วดุลการชำระเงินยังคงเกินดุล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)