ระดมเงินออมตั้งกองทุนชาติแสนล. ดึงไทย-เทศลงขัน "เมกะโปรเจ็กต์"

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในอนาคตข้างหน้า รัฐบาลจะมีโครงการขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก และมูลค่าสูง ดังนั้นเพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระมากเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงต้องการเปิดช่องให้เอกชนมาร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ได้มากขึ้น 

 

          ขณะเดียวกันการที่จะควบคุมระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกินจุดที่ไม่เหมาะสม ทางกระทรวงการคลัง โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้สั่งการให้เตรียมการหาวิธีนำเงินจากภาคเอกชน หรือจากภายนอกประเทศ มาลงทุนร่วมกับภาครัฐ

 

          "รมว.คลังมีแนวคิดที่จะทำเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ เพื่อที่จะเป็นเงินกองทุนเอามาใช้ในโครงการเหล่านี้ ในส่วนที่รัฐบาลต้องลงเองบางส่วน แต่รายละเอียดต้องรอให้ถึงเวลาก่อน" นายสมคิดกล่าวและว่า

 

         กุญแจสำคัญคือทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต้องทำให้ชัดว่า จากวันนี้ถึงปีหน้าจะมีกี่โครงการ โครงการไหนเริ่มเมื่อไหร่ ส่วนทางด้านการเงิน จะมีการตระเตรียมแนวทางไว้เพื่อให้จังหวะเวลาสอดรับพอดีกัน เพราะไม่เช่นนั้นหากทำไปก่อน จะต้องแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย

 

คลังตั้ง "กองทุนชาติ" แสน ล.

 

           ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กองทุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพิจารณาอยู่ จะเป็นกองทุนระดับชาติ เรียกว่า "National Infrastructure Fund" จะมีขนาดกองที่ใหญ่ และลงทุนได้ในทุกโครงการ

 

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ราว 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายอภิศักดิ์ได้มอบหมายให้ สคร. ไปศึกษาจัดทำโครงสร้าง "National Infrastructure Fund" ที่เหมาะสมออกมา ขณะนี้ผลศึกษายังไม่ตกผลึก แต่มีแนวทางเบื้องต้นคือ กองทุนที่ตั้งขึ้นจะต้องมีบทบาทช่วยลงทุนในแต่ละโครงการด้วย เพียงแต่ยังต้องดูว่าจะแค่เข้าไปลงทุนเฉย ๆ ในลักษณะการถือหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือให้สามารถปล่อยกู้แก่เอกชนที่เป็นพาร์ตเนอร์ในแต่ละโครงการได้ด้วย

 

          "ตอนนี้มีการศึกษารูปแบบในต่างประเทศอย่างประเทศอินเดียที่มีการลงทุนลักษณะนี้เยอะ กองทุนสามารถช่วยซัพพอร์ตโครงการให้เกิดได้ เพราะบางทีเอกชนเองก็หาแหล่งเงินทุนไม่ทัน"

 

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามแนวคิด รมว.คลัง กองทุนนี้ต้องการดึงเงินออมส่วนเกินในระบบมาใช้ในการลงทุน อย่างเช่น เงินที่เอกชนฝากกินดอกเบี้ยกับแบงก์ เป็นต้น แต่ไม่ใช่การไปนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้อย่างแน่นอน ดังนั้นกองทุนจะต้องสร้างผลตอบแทนที่จูงใจนักลงทุนด้วย ซึ่งนักลงทุนที่จะมาลงในกองนี้จะมีทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติทั้งรายย่อยและสถาบัน

 

          "กองทุนน่าจะมีมูลค่าหลักแสนล้านบาทขึ้นไป และปี 2559 อาจจะเริ่มเห็นรูปร่างเค้าโครง ต้องดูผลศึกษาก่อนว่าเป็นไปได้ขนาดไหน ซึ่งเรื่องนี้ รมว.คลัง ติดตามความคืบหน้าทุก 1-2 สัปดาห์" แหล่งข่าวกล่าว

 

           ทั้งนี้ National Infrastructure Fund อาจแตกต่างจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกก่อนหน้านี้ เพราะกองทุนของ กฟผ.จะเป็นการลงทุนในโครงการเดียว แต่กรณีนี้อาจเป็นกองใหญ่ที่ไปลงทุนได้ทุกโครงการ ซึ่งก็มีการศึกษาทั้งรูปแบบกรีนฟีลด์และบราวน์ฟีลด์

 

          นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ว่าที่ผู้อำนวยการ สคร.คนใหม่ จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษา จัดทำโครงสร้าง "National Infrastructure Fund" ตามนโยบาย รมว.คลัง ต่อไปหลังจากนี้

 

เพิ่มสัดส่วนเอกชน PPP กว่า 17%

 

           นายสมคิดกล่าวอีกว่า ต้องการผลักดันการร่วมทุนแบบ PPP ให้เอกชนมีสัดส่วนมากขึ้นจากที่กำหนดไว้ 17% เนื่องจากเดิมยังมีการมองว่า รัฐยังต้องลงทุนเป็นหลักอยู่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่จำเป็น ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละโครงการ ดังนั้นทาง สคร.จะต้องไปดูแนวทางที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้มากขึ้น

 

          "หลักการคือรัฐบาลต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐ แต่สัดส่วนจะเป็นเท่าไหร่ อย่างไร อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละโครงการว่าอันไหนจะเหมาะสมที่สุด สคร.ต้องไปหารือกับเอกชน จะไม่บอกว่าต้องเท่ากันทุกโครงการ ต้องแล้วแต่ลักษณะโครงการ" นายสมคิดกล่าว

 

ที่มาประชาชาติธุรกิจ