"ฟินเทค” พลิกโฉมบริการการเงิน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

"ฟินเทค” พลิกโฉมบริการการเงิน

       นาทีนี้เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนเรียบร้อยแล้ว ในหลากหลายรูปแบบ และอีกไม่นาน “ฟินเทค” หรือ  ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology)จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น

       ฟินเทคแบบเบสิกที่สุดที่ทุกคนใช้อยู่คือ เอทีเอ็ม โมบายแบงก์กิ้ง ตู้กดเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างคือการใช้บริการทางการเงินด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมอีกต่อไป อันเป็นจุดประสงค์หลักในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินขึ้นมา

       ฟินเทคจึงเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงิน เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เอื้อประโยชน์กัน ทั้งในด้านอำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรมทางการเงิน การเพิ่มกิจกรรมทางการเงินกับการซื้อขายสินค้า เพียงแค่อาศัยระบบการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น

       จุดเด่นของฟินเทค คือ ความง่ายในการใช้บริการ ไม่ซับซ้อนและผูกขาด สร้างอิสระในการทำธุรกรรมทางการเงินแก่ผู้บริโภค ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้ฟินเทคได้รับความนิยมทั่วโลก จนกลายเป็นกระแสและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

       มูลค่าการตลาดของฟินเทคทั่วโลกเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 หรือเติบโต 130% ขณะที่ในเอเชีย ฟินเทคมีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 หรือเติบโต 3 เท่าจากปัจจุบัน

       ฟินเทคมีความหลากหลาย กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) เข้ามาจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาธุรกิจมากมาย ในสหรัฐอเมริกามีสตาร์ทอัพทำฟินเทคเป็นพันบริษัท แต่ในประเทศไทยธุรกรรมนี้เพิ่งเริ่มต้น จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์มีผู้ประกอบการด้านฟินเทคจดทะเบียนประมาณ 40 บริษัท ซึ่งนับว่ายังน้อย แต่ก็มีโอกาสจะเติบโตเร็ว

       บริษัท ฟินเทค ที่ได้ยินกันบ่อยๆ เช่น เอ็มเปย์ ทรูมันนี่ เพย์สบาย ที่เป็นบริการชำระเงิน โอนเงิน รวมทั้งมีฟินเทคที่เป็นองค์กรระดมทุนผ่านออนไลน์ (คราวด์ฟันดิ้ง) อย่าง ดรีมเมกเกอร์ มีฟันด์ อาซิโอล่า รวมทั้งฟินเทคที่เกี่ยวกับการลงทุนและการวิเคราะห์หุ้น อย่าง สต็อคเรดาร์ส สต็อคทูมอร์โรว์ เป็นต้น รวมไปถึงบริการทางการเงินของค่ายมือถือ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ (เทลโก้) ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ถือเป็นฟินเทคอีกรูปแบบหนึ่งที่มียอดธุรกรรมเพิ่มขึ้นมากทั้งที่ไม่ได้เป็นธนาคาร เข้ามามีบริการรับชำระเงิน-โอนเงินมากขึ้น รวมทั้งยังมีการพัฒนาเป็นระบบชำระเงินรายย่อย (อี-วอลเลต) ที่โอนเงินหากันโดยไม่จำกัดค่าย ใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น

       จะเห็นได้ว่า ฟินเทคเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาให้บริการรับชำระเงิน โอนเงิน ถึงขนาด เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ยังกล่าวว่า คู่แข่งสำคัญของเจพีมอร์แกนที่สำคัญจากนี้ไปไม่ใช่ธนาคารใหญ่ๆ ในอเมริกาอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเหล่าบริษัทฟินเทค สตาร์ทอัพ ที่กำลังบ่มเพาะกันอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐ

ดังนั้น เพียงดิจิทัลแบงก์กิ้งอาจจะไม่เพียงพอแล้ว สำหรับการรองรับการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นได้ว่าทุกธนาคารให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และเริ่มมีการปรับตัวเพื่อให้การให้บริการเท่าทันกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาในด้านฟินเทคให้มากขึ้น

       ธีระชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่นสต็อคเรดาร์ส ระบุว่า ฟินเทคเริ่มรุกคืบเข้ามาในตลาดทุน แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หากเข้ามาเต็มรูปแบบผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโบรกเกอร์ ความสำคัญของเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (ไอซี) อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผู้ลงทุนที่จะมีการหาข้อมูลที่จะมาใช้วิเคราะห์เองจากแอพพลิเคชั่นตัวช่วยในการวิเคราะห์การซื้อขาย วิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งใส่คำสั่งซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตเอง

       ข้อดีของฟินเทค คือ จะทำให้อุตสาหกรรมเป็นการแข่งขันที่เน้นทางด้านการบริการมากกว่าที่จะไปเน้นทางด้านแข่งขันในด้านราคาหรือการตลาดมากกว่า ซึ่งสต็อคเรดาร์สก็เป็นสตาร์ทอัพที่เป็นฟินเทคที่เน้นเรื่องการบริการข้อมูลไปแข่งขันในตลาดทุน

       โดยสรุป ฟินเทค ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของธนาคาร รวมทั้งผู้กำกับดูแลด้วย เพราะเป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก กฎหมายการเงินจะต้องพัฒนาให้เท่าทัน หรือครอบคลุมการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายต้องไม่ปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย

 

 

 

 

ที่มา: posttoday