ยืดเวลาชําระภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อความเป็นธรรมแก่นักลงทุน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

       โดยที่การส่งเสริมการลงทุนในประเทศเป็นนโยบายสําคัญของทุกรัฐบาลตลอดมาดังที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ จัดตั้งสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณามาตรการอํานวยความสะดวก การให้สิทธิประโยชน์ และสิ่งจูงใจต่าง ๆ แก่นักลงทุนตามมาตรฐานในนานาประเทศ จนสามารถ ให้ความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เพิ่มรายได้ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การใช้ทรัพยากรในประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ และในความเข้าใจข้อกฎหมายของหน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนในบางครั้ง อาจแตกต่างจากหน่วยงานตามกฎหมายอื่น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้ประสานและหาทางแก้ปัญหาเพื่อสร้าง ความรับรู้ ความเข้าใจ และวางแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมอยู่แล้ว 

       ความเข้าใจแตกต่างที่มีนัยสําคัญประการหนึ่งคือปัญหาการคํานวณกําไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนว่าในกรณีประกอบกิจการขาดทุนจะมีวิธีการคํานวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างไร หากถือตามความเข้าใจและแนวปฏิบัติของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคําพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง วิธีการคํานวณจะแตกต่างจากคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรและ ประกาศกรมสรรพากร ซึ่งต่อมาได้มีคําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๓๔๕/๒๕๕๘ อ่านคําพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ วินิจฉัยให้การคํานวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรคํานวณ ข้อนี้เท่ากับว่านิติบุคคล ดังกล่าวต้องชําระภาษีให้ถูกต้อง แต่โดยที่ล่วงเลยระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชําระภาษี ตามที่กฎหมายกําหนด จึงเป็นเหตุให้นิติบุคคลเหล่านั้นต้องชําระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอีกส่วนหนึ่ง ตามมาตรา ๓ อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอํานาจขยายกําหนดเวลาการยื่นรายการชําระภาษีเงินได้และขยายกําหนดเวลาการยื่นคําร้องขอคืนภาษีอากรได้ตามความจําเป็น ซึ่งต่อมาได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกําหนดเวลาการยื่นรายการชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ อนุมัติให้ขยายกําหนดเวลาดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนด จนถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ อันมีผลทําให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม หากได้ชําระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มไว้แล้วก็ให้ขยายกําหนดเวลาการยื่นคําร้องขอคืนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มออกไปเป็นภายในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ เช่นกัน โดยระบุเหตุผลไว้ในประกาศดังกล่าวว่า การขยายกําหนดเวลาเช่นนี้ “เนื่องมาจากการปฏิบัติตามแนววินิจฉัยอันมีความคลาดเคลื่อนจากหน่วยงานราชการอื่นโดยมิได้มีเจตนา ที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี” แต่โดยที่ประกาศดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงบางกรณีซึ่งแม้อยู่ในบังคับ เหตุผลอย่างเดียวกัน แต่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบางข้อในประกาศฉบับนั้น จึงสมควร วางหลักเกณฑ์การขยายกําหนดเวลาการยื่นรายการชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรเสียใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมตามนัยแห่งเหตุผลเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการรักษาบรรยากาศการลงทุนและ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยถือว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยังคงต้องปฏิบัติตามคําพิพากษาศาลฎีกา แต่การจะชําระเมื่อใดและภายใต้หลักเกณฑ์ใดเป็นเรื่องของการบังคับคดีและวิธีปฏิบัติ ซึ่งมาตรา ๓ อัฏฐ วรรคสอง ให้เป็นอํานาจของฝ่ายบริหาร อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้ 

ข้อ ๑ ในคําสั่งนี้ 

“ประกาศกระทรวงการคลัง” หมายความว่า ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกําหนดเวลา การยื่นรายการชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙ 

ข้อ ๒ ให้ขยายกําหนดเวลาการยื่นรายการชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามนัยแห่งประกาศ กระทรวงการคลัง ออกไปจนถึงวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ อันมีผลทําให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลนั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม และให้ขยายกําหนดเวลาการยื่นคําร้องขอคืนเบี้ยปรับหรือ เงินเพิ่มออกไปเป็นภายในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ ด้วยเช่นกัน การขยายกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งเป็นการใช้อํานาจแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามข้อ ๒ ของประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓ อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรโดยอนุโลม และให้ใช้กับนิติบุคคลที่ยื่นแบบแสดงรายการและชําระภาษีเงินได้ นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามแนววินิจฉัยของหน่วยงานราชการอื่นโดยมิได้มีเจตนา ที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามเงื่อนไขในข้อ ๓ ของประกาศกระทรวงการคลัง และให้รวมถึงนิติบุคคล ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชําระภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องแต่ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ต้อง ชําระภาษีให้ถูกต้องก่อนวันที่มีประกาศกระทรวงการคลังแล้วด้วย 

ข้อ ๓ ให้กระทรวงการคลังและสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและอยู่ในอํานาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้เกิดความชัดเจน แล้วอธิบายหรือชี้แจงให้นักลงทุนทราบโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

 

ความในวรรคหนึ่งให้ใช้กับบรรดาหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้วย เพื่อให้เกิด ความสะดวกในการทําธุรกิจและการลงทุน ความเป็นธรรม และการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน 

ข้อ ๔ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

สั่ง ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

 

ที่มา: bangkokbiznews