สังคมปลอดเงินสด (Cashless society)

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

        ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีจำนวนประชากรกว่า 40% บนโลกใบนี้ที่กำลังออนไลน์ ด้วยจำนวนสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงพึ่งพาอินเตอร์เน็ตในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันมากขึ้นนับตั้งแต่การเชื่อมโยงกับเพื่อนๆและครอบครัวตลอดจนการซื้อของและทำธุรกรรมทางธนาคาร

 

        นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆยังขยายการใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในการดำเนินธุรกิจได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย ห่วงโซ่คุณค่าที่มีความซับซ้อนและมีพลวัตรซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้พัฒนาการส่งมอบบริการดิจิทัลให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆอย่างต่อเนื่อง

        การปฏิวัติดิจิทัลอาจเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้การใช้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรมกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ประเทศที่มีการพัฒนาด้าน Mobile broadband จึงมีโอกาสในการนำร่องการพัฒนาบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ด้วยการที่มีประชากรวัยรุ่นจำนวนมากที่ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ e-commerce ซึ่งมีความก้าวหน้าทันสมัย

        ระบบดิจิทัลจะกระตุ้นอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดการพัฒนา เช่น บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ IoT และ เทคโนโลยี Cloud computing แต่ละอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีส่วนช่วยสร้างจีดีพีให้เติบโตขึ้นในหลายๆทาง ตัวอย่างเช่น e-commerce สามารถกระตุ้นจีดีพีให้โตขึ้นได้โดยพัฒนาประสิทธิภาพในการขายที่มีอยู่ปัจจุบันในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมอุตสาหกรรมของคู่ค้าที่เกี่ยวข้องให้เติบโตขึ้น เช่น ด้านโลจิสติกส์ และการชำระเงิน

 

 

        สังคมปลอดเงินสด (Cashless society) ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การใช้เงินสดกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบการชำระเงินดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน เที่ยงตรงและมีความปลอดภัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป พลเมืองในแต่ละประเทศจะมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าภูมิทัศน์การชำระเงินดิจิทัล (digital payment landscape) ที่มีอยู่เต็มไปด้วยการชำระเงินผ่านทางเครื่องสแกนต่างๆ (Proximity payments ที่เปิดใช้งานโดย NFC และ Apple Pay) การโอนเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกระเป๋าเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile wallets) ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ได้มาตรฐานและใช้งานร่วมกันได้มากขึ้นในทศวรรษหน้า 

        ปัจจุบัน โซลูชั่นการชำระเงินดิจิทัลแบบใหม่จะค่อยๆเปลี่ยนรูปแบบการบริการทางการเงิน และสุดท้ายจะช่วยให้ประเทศสามารถก้าวไปไกลเกินกว่าการใช้เงินสดได้ในที่สุด ด้วยการเชื่อมต่อโดยตรงกับฐานผู้ใช้บริการกลุ่มใหญ่ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถลดโครงสร้างต้นทุนของการธนาคารแบบเดิมได้ โดยลดความจำเป็นในการขยายสาขาธนาคาร โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละเครื่องสามารถกลายเป็น “ธนาคารส่วนบุคคล” ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆได้โดยใช้แอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธนาคารที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว (Internet-only bank) ที่ให้บริการด้านต่างๆของธนาคารโดยไม่มีการจัดตั้งสาขากำลังเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก Fidor Bank, Charter Savings Bank, Atom และอื่นๆได้เปิดดำเนินการแล้วในสหภาพยุโรป ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดตัวธนาคารที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว (Internet-only bank) ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศ

 

 

        ธนาคารอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ได้ช่วยลดต้นทุนค่าบริการให้แก่ผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ต้นทุนค่าบริการที่ลดลงจะช่วยให้ธนาคารเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตนเองให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อีกด้วย นวัตกรรมในบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile financial services) จะเพิ่มบริการทางการเงินที่ทั่วถึง (financial inclusion) และจะเข้ามาแทนการชำระเงินด้วยเงินสดในที่สุด 

        ในประเทศเคนยา มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Vodafone ได้ทำธุรกิจให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เรียกการให้บริการดังกล่าวว่า M-Pesa จากที่มีอัตราการเข้าถึงธนาคารของประชาชนในปริมาณน้อย (ร้อยละ 80 ของประชากรไม่มีบัญชีธนาคารของตนเอง) ในขณะที่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขในระดับสูงและมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมด้านการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงทำให้ M-Pesa มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการเติบโต นับตั้งแต่เปิดตัวใน พ.ศ. 2550 ปัจจุบัน M-Pesa มีฐานผู้ใช้งานมากกว่า 20 ล้านคน (จากจำนวนประชากรจำนวน 44 ล้านคน) และมีการทำธุรกรรมในแต่ละปีมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

        ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงพัฒนากฎหมาย ระเบียบข้อบังคับในการกำกับดูแลที่ยังผลให้เกิดการส่งเสริมให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นและภายในประเทศมากยิ่งขึ้น โดยต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเงื่อนไขในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีการกำกับดูแลที่ถูกต้องและสมดุล จึงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่เกิดต้นทุนที่สูงเกินไปของผู้พัฒนา (developers) หรือผู้ให้บริการ (providers)

 

 

ขอขอบคุณที่มา : it24