แหล่งข่าวจากกระทรวงการเปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนจะนำกลับเข้าครม.เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จะเป็นการยกเลิกกฎหมายภาษีที่เก็บบนฐานทรัพย์สิน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2508 ซึ่งมีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาการจัดเก็บสูง
“ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่เก็บในอัตรา 12.5% ของราคาค่าเช่ารายปี กลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ใช้ดุลพินิจ และเรียกรับเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ประเมินภาษีในระดับที่ต่ำ หากนำกฎหมายใหม่มาใช้ การใช้ดุลพินิจจะลดลง เนื่องจากเก็บภาษีบนฐานของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ส่วนราคาประเมินของสิ่งปลูกสร้าง ก็จะมีตารางประเมินที่ชัดเจนเช่นกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นทางการ และเปิดเผย ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของอาคารที่ให้เช่าเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ได้จ่ายภาษีให้แก่ท้องถิ่น อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการหลบเลี่ยงภาษี แล้ว ภาระภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะออกมาใช้นั้น จะไม่ทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระที่สูงขึ้น” สำหรับกรณีที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกังวลว่า ภาษีใหม่ อาจทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลงเนื่องจากยกเว้นภาษีให้สำหรับบ้านและที่ดิน รวมถึงที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท นั้นทางกระทรวงการคลังได้ชี้แจงแล้วว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่นั้น อาคารเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม จะสามารถเก็บได้ตามเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ตั้งแต่ร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผม ร้านสะดวกซื้อจนถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้น ดังนั้น จึงต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกของราคาประเมินที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า หากนำกฎหมายภาษีดังกล่าวมาใช้ตามอัตราที่ประกาศไว้ในพระราชกฤษฎีกา จะทำให้รายได้จากภาษีที่ดิน ที่เก็บจากที่ดินเพื่อการเกษตร มีรายได้ต่อปีประมาณ 50 ล้านบาท ภาษีที่เก็บจากบ้านอยู่อาศัย ราว 4 พันล้านบาท และภาษีที่เก็บจากอาคารและที่ดินเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม ราว 6.02 หมื่นล้านบาท
ขอขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ