นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมได้จัดตั้งทีมขึ้นเพื่อศึกษาเก็บภาษีจากบริษัทผู้ให้บริการกูเกิล รวมถึงภาพรวมของการบริการของโซเชียลเน็ตเวิร์กภาพรวมทั้งหมด
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ศึกษาการเก็บภาษีกูเกิล ในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่กูเกิลไปเปิดสำนักงานในประเทศ แต่ส่วนของไทยกูเกิลไม่ได้เปิดสำนักงานในไทย จึงต้องมีการแก้กฎหมายเพื่อให้การเก็บภาษีจากกูเกิลได้
สำหรับการเก็บภาษีผู้ให้บริการทางออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อตรวจสอบการเสียภาษี โดยเฉพาะธุรกิจบนออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้งเพจดัง เน็ตไอดอล หรือธุรกิจกึ่งบันเทิงทางออนไลน์ เช่น แอพพลิเคชั่นไอโชว์ หรือแอพพลิเคชั่น บีโกไลฟ์ ว่ายื่นเสียภาษีถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการรับงานเข้ามา ทั้งการเป็นพรีเซนเตอร์ หรือขายของบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก หากมีรายได้จะต้องยื่นเสียภาษีให้ครบถ้วนและถูกต้อง
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า วิธีการที่บริษัทข้ามชาติที่ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้ง กูเกิล เฟซบุ๊ก และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ใช้เลี่ยงไม่เสียภาษีคือ การโอนรายได้ไปมาระหว่างบริษัทในเครือของตัวเองข้ามไปยังประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เป็นการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน ความพยายามเก็บภาษีนั้นในประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหาเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมสรรพากรอาจจะต้องร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหามาตรการที่จะเก็บภาษีให้ได้โดยที่ไม่กระทบการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะต้องดูประเด็นทางกฎหมายเป็นหลัก เพราะใครก็ตามหากเข้ามาตั้งบริษัทประกอบธุรกิจในไทยก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น
ขอขอบคุณที่มา : Posttoday